data-ad-format="autorelaxed">
สถาบันเกษตรกร-พ่อค้าช็อก ราคายางตกตํ่าแบงก์งดปล่อยกู้ หวั่นถูกชักดาบ วงการประเมินบริษัทร่วมทุนขาดทุนซื้อยาง 9,300 ตัน กว่า 400 ล้าน แกนนำใต้เดือดทวงสัตยาบันตัวแทนเกษตรกรนั่งบอร์ด กยท.ให้ลาออก หลังล้มเหลวเป็นปากเสียง
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ราคายางพารายังคงตกตํ่า โดย ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 45.05
บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 45.89 บาท/กก. นํ้ายางสด 43 บาท/กก. เศษยาง ณ โรงงาน 37 บาท/กก. เทียบกับวันเดียวกัน ณ ปีที่แล้ว(1 พ.ย.59) ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 54.76 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 57.58 บาท/กก.นํ้ายางสด 55.50 บาท/กก. และเศษยาง ณ โรงงาน 50 บาท/กก.
“จากราคายางตกตํ่า ไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลทำให้สถาบันเกษตรกร พ่อค้าทั่วประเทศ เดือดร้อนไปตามกัน เพราะเวลานี้สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ซื้อยางแล้ว เกรงจะไม่มีเงินจ่าย เนื่องจากราคายางลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด (กยท.+ 5 บริษัทค้ายางรายใหญ่) ไม่มีแผน การซื้อที่ชัดเจน ซื้อตลาดโน้นบ้าง นี้บ้างในแต่ละวัน ไม่ได้ช่วยกระตุกราคาขึ้นเลย ท้ายสุดยางที่ซื้อก็มากองไว้จนทำให้ 3 ตลาดกลาง (สงขลา สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์) ไม่สามารถซื้อขายยางได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์”
แหล่งข่าวจากวงการค้ายาง กล่าวว่า จากปริมาณยางคงเหลือของบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย 9,368 ตัน (กราฟิกประกอบ) ซึ่งเริ่มการประมูลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม-12 ตุลาคม 2560 ปริมาณยางที่ประมูลทั้งหมด 1.16 หมื่นตัน ปริมาณยางขายไปแล้ว 2.23 พันตัน หากเทขายทั้งหมด ณ วันนี้จะขาดทุนไม่ตํ่ากว่า 400 ล้านบาท เพราะราคายางต้นทุนสูง จากจ้างโรงงานแปรรูปอัดก้อน และมีค่าขนส่ง แต่ถ้าเก็บไว้ แล้วราคายางยังไม่ดีขึ้น จะเพิ่มขาดทุนไปอีก ไม่แน่ใจว่า บริษัทร่วมทุนฯ มีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ ควรจะเปิดเผย เนื่องจาก กยท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เอกชน และการไปร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนนั้นถูกต้องหรือไม่
ด้านนายสาย อิ่นคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในส่วนของตัวแทนสถาบัน
เกษตรกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เสนอความเดือดร้อนของเกษตรกรผ่านบอร์ดหลายครั้งแต่ไม่มีใครฟัง และยังถูกประธานต่อว่าอีก เสนอว่าให้แกนนำแต่ละคนรวบรวมรายชื่อชาวสวนยาง เสนอนายกรัฐมนตรีให้ใช้ ม.44 ยุบ กยท. และไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมส่งออก (เซสส์) สูบเลือดชาวสวนยาง
สอดคล้องกับนายสังเวียน ทวดห้อย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กยท. (ตัวแทนสถาบันเกษตรกร) เผยว่า การทำงานต้องรับผิดชอบทั้งคณะ ในฐานะที่เป็นตัวแทนเข้าไปนั่งในบอร์ดได้เสนอแนวทางไปแล้วก็มีการคัดค้าน แต่ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่
ขณะที่นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มนํ้ามัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า ตัวแทนเกษตรกร 5 คนก่อนเข้าไปเป็นบอร์ด กยท. ได้มีการเซ็นใบลาออกก่อนรับตำแหน่งว่าถ้าปฏิบัติหน้าที่
เป็นปากเสียงไม่ได้ยินดีที่จะลาออกทันที ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัตยาบันจะโชว์หลักฐาน
ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลการจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด จดทะเบียน วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท กรรมการบริษัทมี 6 คน ได้แก่ 1. นายธีธัช สุขสะอาด 2. นายวิชญ์พล สินเจริญกุล 3. นายภัทรพล วงศาสุทธิกุล 4. นายกรกฎ กิตติพล 5. นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต และ 6. นายชำนาญ นพคุณขจร กรรมการมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท คือ นายธีธัช สุขสะอาด ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีก 2 คน รวมเป็น 3 คน หรือกรรมการจำนวน 4 คนลงลายมือชื่อร่วมกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 67/25 ถ.บางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560