data-ad-format="autorelaxed">
แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร กยท. ยอมรับว่าไม่ค่อยพอใจผลการบริหารงานของนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถขับเคลื่อนราคายางหรือมาตรการกระตุ้นราคาได้ดีเพียงพอ โดยเฉพาะการขายยางพาราในสต๊อกของรัฐที่เหลือ 1 แสนตัน ที่มีปัญหาผู้ซื้อไม่มารับสินค้า ส่งผลให้มียางในสต๊อกของรัฐคงเหลือ และไม่สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยางในภาครัฐของจำนวนยางที่เหลือได้ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ปริมาณยางดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาราคายาง
นอกจากนั้น ในส่วนของการที่บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย วงเงินจำนวน 1,200 ล้านบาท ที่เอกชนรายใหญ่มาร่วมลงขันก็มีปัญหาเรื่องการซื้อยางในราคานำตลาดซึ่งใช้ไปแล้วประมาณ 600 ล้านบาท ซื้อยางแล้วประมาณ 1.4 หมื่นตัน โดยซื้อราคานำตลาดที่สูงเกินกว่าราคาตลาดมากถึง 5-10 บาท/กิโลกรัม (กก.) ในสองตลาดคือ จ.บุรีรัมย์และยะลา แต่การนำยางออกตามเงื่อนไขล่าช้ากว่ากำหนดที่ตกลงกัน ทำให้ยางตกค้างในโกดังของรัฐมากกว่า 7,000 ตัน มีผลให้ตลาดกลางยางพาราหลายแห่งต้องปิด เพราะโกดังไม่ว่างพอจะซื้อยางใหม่ของเกษตรกรได้
ผู้ว่าการ กทย. กล่าวว่า ในฐานะกรรมการกองทุนร่วมทุนยางพาราไทย วงเงิน 1,200 ล้านบาท ยอมรับว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อซื้อมาขายไป แต่การขนยางยังไม่เป็นตามเงื่อนไข โดยที่ประชุมบริษัท ร่วมทุนฯ มีมติให้ขนย้ายยางเก่าออกจากตลาดภายในสัปดาห์ดังนั้นครั้งต่อไปการขนยางจะออกจากตลาดภายใน 1 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องเสียค่าปรับตามอัตราของตลาดกลาง ซึ่งยืนยันว่ากระบวนการจากนี้จะชัดเจน และไม่เป็นภาระเรื่องสต๊อกที่คงค้างในตลาดทุกแห่ง อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อยางของบริษัทร่วมทุนฯ ช่วยกระตุ้นราคาได้จริง โดยจะเห็นว่าจากที่ชะลอการซื้อมา ในช่วง 3 สัปดาห์ราคายางแผ่นดิบรวมชั้น 3 ปรับลดลงไป 6 บาท ปิดตลาดอยู่ที่ 46.50 บาท
source: posttoday.com/biz/gov/523766