data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบรายงานงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่กระทรวงเกษตรฯเสนอเพื่อรับทราบ ตามกฎหมายที่ประกาศให้ต้องรายงานให้ ครม.รับทราบด้วย โดยสาระสำคัญมีดังนี้ คณะกรรมการ กยท.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เป็นเงินทั้งสิ้น 14,666.5194 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ทุน กยท.งบประมาณ 3,972.7917 ล้านบาท จำแนกเป็นงบทำการ 3,843.5517 ล้านบาท และงบลงทุน 129.24 ล้านบาท 2.กองทุนพัฒนายางพารางบทำการ งบประมาณ 10,693.7277 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 55 บัญญัติ ให้ กยท. จัดทำงบประมาณประจำปีโดยจำแนกเงินที่จะได้รับในปีหนึ่งๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุน ส่วนรายละเอียดของงบลงทุนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะเป็นหน่วยงานที่จะนำเสนอ ครม.เป็นภาพรวมระดับประเทศต่อไป
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า งบประมาณในปี 2561 จะเป็นงบประมาณที่ใช้ในการบริหาร ค่าจ้างบุคลากร ประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับที่เหลือจะเป็นงบประมาณสนับสนุนโครงการของ กยท.ที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงการซ่อมแซมและปรับปรุงโรงงานเก่าของ กยท.ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนงบประมาณลงทุนขนาดใหญ่แบบรัฐวิสาหกิจอื่นๆ คงยังไม่มีในปีนี้ เนื่องจาก กยท.ยังเป็นเพียงหน่วยงานขนาดเล็ก เน้นภารกิจงานภายใต้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อให้องค์กรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ นอกจากนี้ กยท.ก็คงไม่มีการตั้งงบประมาณ เพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำไว้ล่วงหน้า เนื่องจากอาจเป็นกระบวนการที่บิดเบือนกลไกของตลาด
“การตั้งงบประมาณเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กยท.คงไม่ได้มีการตั้งงบไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากผมบอกว่า วิธีการที่ดีที่สุดของการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ คือการปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด ปราศจากการแทรกแซง รวมทั้งผมมองว่า มาตรการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ และหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว จะส่งผลดีต่อราคาในระยะ 1-2 ปีนับจากนี้”
source: matichon.co.th/news/656111