data-ad-format="autorelaxed">
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (2560-2579) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพารามีกรอบทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และสามารถนำไปขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกด้านการผลิตและส่งออกยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางพารา ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่ยั่งยืน” ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพและการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การพัฒนาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เและ 5.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปีดังกล่าว มีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงมีการแบ่งเป้าหมายการดำเนินงานออกเป็นระยะละ 5 ปี โดยระยะแรกตั้งแต่ปีที่ 1-5 (2560-2564) จะให้ความสำคัญเรื่องระบบการผลิต เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเป็น Smart Farmer สถาบันเกษตรกรมีการบริหารงานแบบมืออาชีพและมีความสามารถในการทำธุรกิจ ระบบการผลิตและการแปรรูปยาง/ไม้ยางมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ข้อมูลด้านยางพารามีความสมบูรณ์ถูกต้องทันสมัย มีกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ นอกจากนี้สวนยางพาราที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติจะต้องหมดไป
ระยะที่ 2 ปีที่ 6-10 (2565-2569) ให้ความสำคัญในเรื่องระบบการตลาด โดยจะผลักดันให้เกิดตลาดกลางยางพาราที่มีมาตรฐานในการบริหารงานครบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้ธุรกรรมการซื้อขายยางในตลาดกลางกับตลาดท้องถิ่นเชื่อมโยงกันเป็น “ตลาดยาง กยท.” ที่ทั่วโลกใช้ในการอ้างอิง
ระยะที่ 3 ปีที่ 11-15 (2570-2574) ให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรม อุตสาหกรรม โดยทำให้มีผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พร้อมสำหรับใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราในอนาคต มีพันธุ์ยางที่เติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของน้ำยางสูง และมีปริมาณเนื้อไม้มาก
source: naewna.com/local/293941