data-ad-format="autorelaxed">
ในภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยยังคงคิดแบบเก่าๆ แบมือรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำกันจนเคยชิน จนกลายเป็นวัฒนธรรมภาคเกษตรของบ้านเราไปซะแล้ว
ไม่รู้มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ ภาครัฐก็ให้ซะจนเคยตัว...ทั้งที่อยากให้เขามีปลาไว้กิน แต่ไม่เคยสอนวิธีจับปลา ไม่ให้เครื่องมือในการจับปลา สุดท้ายความช่วยเหลือที่เอามาแจกไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเกษตรกรพึ่งพาตนเองได้
ทั้งที่บ้านเราเป็นเมืองพุทธ มีพุทธสุภาษิตสอนใจ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
ช่วยให้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง นำพุทธสุภาษิตนี้มาเป็นหลักในการรวมกลุ่มพ่อค้าคนกลางทำนาบนหลังคน จนยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้
สหกรณ์กองทุนสวนยางไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างหนึ่ง แม้จะมีพื้นที่ปลูกยาง 3,000 ไร่ จะอยู่ห่างไกลจากโรงงานแปรรูป ตลาดขายยางเลยค่อนข้างน้อย จึงถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอยู่ร่ำไป ปี 2555 สมาชิกชาวสวนยาง 250 คน เลยรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ รวบรวมผลผลิตจากชาวสวนยางทั้งหมดในพื้นที่ ในราคาสูงกว่าพ่อค้ารับซื้อกก.ละ 1-4 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาตลาดและคุณภาพยาง เน้นให้เกษตรกรที่มาขายยางทำยางก้อนถ้วยคุณภาพ ไม่มีเศษใบไม้ เศษหินเจือปน เพื่อให้ได้ราคาสูง
รวบรวมผลผลิตได้แล้ว เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาประมูลเดือนละ 2 ครั้ง จนกลายเป็นที่รู้กันในพ่อค้าแถบนี้ อยากได้ของดีมีคุณภาพ ต้องมาประมูลแข่งกันที่นี่
อีกกลุ่ม สหกรณ์กองทุนสวนยางเวียงฝาง จ.เชียงใหม่ รวมตัว 80 คน รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม และถือเป็นแหล่งเดียวในภาคเหนือตอนบนที่รับซื้อน้ำยางสด เพราะส่วนใหญ่จะรับซื้อยางก้อนถ้วย เกษตรกรเองก็ชอบเพราะไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินไปทำยางก้อนถ้วย
เนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานยางเครป โรงงานแปรรูปถุงมือยาง จึงไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่งไปขาย...เดือนหนึ่งรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกร 15 ตัน ส่งโรงงานเอง ช่วยขจัดคนกลางกดราคาได้อีกวิธีหนึ่ง.
source: thairath.co.th/content/1082082