data-ad-format="autorelaxed">
มหากาพย์คดีกล้ายาง 1 ล้านไร่ คืบ กรมวิชาการเกษตรโบ้ย กยท.รับผิดชอบ หากแพ้คดีต้องชดใช้ค่าเสียหาย 1,700 ล้าน เหตุสถาบันวิจัยยางต้นสังกัดถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ กยท. ขณะประมูลยางรอบสอง 9.8 หมื่นตัน ขายได้กว่า 6,000 ล้าน วงการชี้รัฐขาดทุนอ่วม
คดีทุจริตกล้ายาง ในโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในยุครัฐบาลทักษิณยังเป็นมหากาพย์ลากยาว แต่ล่าสุดเริ่มมีความคืบหน้าอีกขั้น
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อช่วงต้นปี ทาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยนายนายณกรณ์ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยางได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าการยางฯ ให้ไปเจรจาเรื่องคดีที่กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการ เป็นวงเงิน 1,700 ล้านบาทนั้น เดิมกรมวิชาการเกษตร มีสถาบันวิจัยยางอยู่ในสังกัด แต่พอมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่เกิดจากการรวม 3หน่วย ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 กล่าวถึงหลักการการรวมองค์กร 3 องค์กรแล้ว จะต้องโอนทั้งทรัพย์สินและหนี้สินไปด้วย ซึ่งในส่วนหนี้สินที่โอนไปให้ก็คือหนี้ดังกล่าวนี้ ที่ กยท.จะต้องมีหน้าที่ไปแก้ปัญหาเอง กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ
ด้านนายขุนศรี ทองย้อย ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวสั้นๆ ว่า ใครจะเป็นคู่กรณีนั้นเป็นเรื่องของภาครัฐก็ว่ากันไป ซึ่งในขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกาที่จะตัดสินอย่างไรทางบริษัทน้อมรับคำตัดสิน
ขณะที่แหล่งข่าวจาก กยท. เผยถึงการเปิดประมูลระบายยางในสต๊อกรัฐบาลรอบที่ 2 ปริมาณ 9.8 หมื่นตัน ใน 26 โกดัง ในพื้นที่ภาคใต้บางส่วน ได้แก่ กระบี่ พัทลุง และสงขลา ประกอบด้วย ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และยางชนิดอื่นๆ ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประมูล 20 ราย แต่พอถึงวันลงทะเบียนเข้าเสนอราคาพร้อมวางหลักทรัพย์ 5% เหลือผู้ประมูล 19 ราย เพื่อเคาะประมูลราคายางผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Auction Forward) ทั้งนี้สรุปภาพรวม กยท.ขายยางได้คิดเป็นเงินรวม 6,640 ล้านบาท
สำหรับการประมูลในครั้งนี้ เป็นการแข่งขัน อย่างเสรี ที่ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถเสนอราคาซื้อได้ตามความสมัครใจ โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของราคากับคุณภาพยางในแต่ละโกดัง โดยราคาเป็นไปตามกลไกทางการตลาด
แหล่งข่าวจากวงการค้ายาง กล่าวถึงผลการประมูลในครั้งนี้ ของ กยท. ราคาค่อนข้างต่ำเฉลี่ยไม่ถึง 68 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่ายางก้อนถ้วยที่ขายในตลาดขณะนี้ เช่นเดียวกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่กล่าวว่า ราคาเศษยาง 100% ณ โรงงาน วันที่ 19 มกราคม 2560 อยู่ที่ 72 บาท/กก. ขณะที่ กยท.ขายยางในสต๊อกแบบเหมาโกดังได้เงินแค่ 6,000 ล้านบาท โดยขายได้ราคา 60 บาทเศษๆต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงถือว่ารัฐบาลเสียประโยชน์ แต่พ่อค้าฟันกำไร
source: thansettakij.com/2017/01/23/125968