data-ad-format="autorelaxed">
ธ.ก.ส.ส่งสัญญาณให้ กยท.ปิดโครงการสร้างความเข้มแข็งจ่ายชดเชยยางไร่ละ 1,500 บาท หลังตัวเลขข้อมูลเริ่มนิ่ง เจ้าของสวนเข้าร่วมโครงการกว่า 7 แสนราย และผู้กรีดยางกว่า 6 แสนราย ใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่าหมื่นล้าน ด้านเกษตรกรอัดรัฐ ทำไม่ถูก ชี้ช่วยชาวนาให้เปล่า แต่กับชาวสวนยางจะให้ควักเซสส์ จ่ายคืน ธ.ก.ส. แนะควรเก็บให้สถาบันเกษตรกรหนุนแปรรูป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยจ่ายเงินเงินชดเชยให้กับเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ว่า ล่าสุดทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แจ้ง ณ วันที่ 29 กันยายน 2559 ได้จ่ายเงินเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 710,749 ราย พื้นที่ 7,108,283.25 ไร่ จำนวนเงินกว่า 6,397 ล้านบาท และจ่ายเงินให้กับผู้ที่กรีดยาง 673,428 ราย จำนวนเงินกว่า 4,064 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,461 ล้านบาท ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และให้ กยท.นำเงินจากกองทุนพัฒนายางพารามาจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส.เป็นลำดับแรก หากไม่พอจึงให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
“ปัจจุบันข้อมูลที่ กยท.ส่งรายชื่อทั้งเจ้าของสวนและผู้กรีดยางตัวเลขเริ่มนิ่งแล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้จะส่งเรื่องให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปิดโครงการ สันนิษฐานว่าคงจะมีเกษตรกรจำนวนเท่านี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ล่าสุด ทาง กยท.มีหนังสือตอบกลับมาสั้นๆ ว่าเงินกองทุนพัฒนายางพารานั้นส่วนใหญ่เป็นเงินผูกพันการส่งเคราะห์เจ้าของสวน ซึ่งรับโอนมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยจะจัดสรรตามจำนวนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณไปจนกว่าจะครบจำนวนภาระการผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางดังกล่าว จึงไม่สามารถที่จะอนุมัติคืนให้กับ ธ.ก.ส.ได้”
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง ทุนประเดิมของ กยท. ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ในสัดส่วนของทุนประเดิม 15% เป็นเงิน 4,696 ล้านบาท และกองทุนพัฒนายางพารา 85% เป็นเงิน 26,613 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวน จำนวน 23,000 ล้านบาท และเงินคงเหลือไม่มีข้อผูกพัน จำนวน 3,613 ล้านบาท ได้นำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 49 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ในจำนวนไม่เกินอัตราร้อยละที่แต่ละอนุมาตรากำหนดไว้นั้น ทาง กยท.ได้ทำหนังสือหารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ข้อสรุปว่า หาก ทาง กยท.มีความจำเป็นย่อมสามารถกระทำ แต่ทางบอร์ดเห็นว่าไม่สามารถนำเงินผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยาง (ยอดเดิม 23,000 ล้านบาท หักปี 2559 จำนวน 5,250 ล้านบาท คงเหลือ 17,750 บาท) มาจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส.ได้ และเห็นควรให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
“ผลการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2559 กยท.จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักร หรือเงินเซสส์ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 จำนวนกว่า 4,063 ล้านบาท จึงมีการอนุมัติการจัดสรร ดังนี้ 1.ตามมาตรา 49(1) จำนวนไม่เกิน 10% เท่ากับ 406.327 ล้านบาท 2.ตามมาตรา 49 (2) จำนวนไม่เกิน 40% เท่ากับ 1,625.302 ล้านบาท 3.ตามมาตรา 49(3) จำนวนไม่เกิน 35% เท่ากับ 1,422.140 ล้านบาท 4. ตามมาตรา 49(4) จำนวนไม่เกิน 5% เท่ากับ 203.163 ล้านบาท 5. ตาม 49(5) จำนวนไม่เกิน 7% เท่ากับ 284.427 ล้านบาท และ 6. ตามมาตรา 49(6) จำนวนไม่เกิน 3% เท่ากับ 121.897 ล้านบาท”
ด้านนายสาย อิ่นคำ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินเซสส์ ไปจ่ายให้ ธ.ก.ส. ควรจะนำเงินสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งโรงงงานแปรรูป เพิ่มมูลค่า และเก็บไว้เป็นสวัสดิการของชาวสวนยางพารา จะเกิดประโยชน์ที่ภาพรวมมากกว่า
เช่นเดียวกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่กล่าวว่า รัฐบาลช่วยเหลือชาวนา แบบให้เปล่า แต่พอมาช่วยชาวสวนยาง กลับจะนำเงินเซสส์มาใช้มองว่าไม่ถูกต้อง ควรจะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
source: thansettakij.com/2016/10/03/102784