data-ad-format="autorelaxed">
งานวิจัยยางพารา
วช.ร่วมพันธมิตรตั้ง “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ” ส่งเสริม และสนับสนุนทุนแผนงานวิจัยเป้าพัฒนาประเทศ ด้าน กยท.และสวก. อัดงบ60ล้านหนุนวิจัยด้านยางพารา
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการกำกับแผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2560 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพฯ โดยหัวเรือหลัก คือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อม 6 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย
งานวิจัยเครื่องมือแปรรูปไม้ยางพารา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ,สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ตั้งเป็น “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ” (คอบช.) ทำหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนทุนแผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) จัดทำกรอบวิจัย และปิดรับข้อเสนอการวิจัยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา มีงานวิจัยรวม 25 กลุ่มเรื่อง ทุนสนับสนุประมาณ 1,005 ล้านบาท
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ผู้แทนหน่วยงานหลักด้านยางพารา เปิดเผยว่า วช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับแผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ หรือภายใต้ชื่อ คอบช. เพื่อเร่งพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปใช้จริง และส่งผลต่อการพัฒนาและยกระดับประเทศในด้านต่างๆ
ทาง กยท.ในฐานะหน่วยงานหลักดูแลจัดการบริหารยางพาราทั้งระบบของประเทศอย่างครบวงจร ได้ร่วมกับ สกว. หนึ่งในเครือข่าย คอบช. ที่ดำเนินการรับผิดชอบงานวิจัย 7 กลุ่มเรื่อง ซึ่งมีหัวข้องานวิจัยยางพาราประกอบอยู่ด้วย โดยส่วนงานวิจัยด้านยางพาราได้รับงบจัดสรรสำหรับการสนับสนุนงานวิจัยทั้งสิ้นจำนวน 60 ล้านบาท มีการเสนอโครงการทุนวิจัยด้านยางพาราจำนวน 49 โครงการ
แบ่งเป็นโครงการเดี่ยว 44 โครงการ และแผนงานวิจัยอีก 5 โครงการ ซึ่งผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดกรองงานวิจัย โดยอยู่ภายใต้กรอบวิจัยทั้งหมด 5 กรอบ คือ 1) การวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อศึกษาแนวทาง/มาตรการ/นโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศทั้งระบบ 2) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ยางพาราและไม้ยางพาราที่มีคุณภาพ (ต้นน้ำและกลางน้ำ) 3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพทางการตลาด (อุตสาหกรรมปลายน้ำ) 4) การวิจัยมาตรฐานยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยางพารา และ 5) การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านยางพารา และไม้ยางพาราของประเทศ
ทั้งนี้ กยท. ในฐานะหน่วยงานที่บริหารจัดการดูแลยางพาราทั้งประเทศ เข้ามามีบทบาทในการคัดกรองงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ร่วมกับ สกว.ที่เป็นหน่วยงานหลัก โดย กยท.จะสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยางพาราในเชิงวิชาการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับแวดวงวิชาการในการศึกษาและพัฒนา เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ สามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แก่วงการยางพารา และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงพี่น้องชาวสวนยางในอนาคต
source: komchadluek.com/news/agricultural/244405