data-ad-format="autorelaxed">
ยางพาราเวียดนาม
สินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอย่างอาเซียน ที่สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชากรอย่างมากมาย
แต่ในปัจจุบันยางพารา ซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกรอาเซียน กำลังเผชิญวิกฤตราคาตกต่ำ รวมถึงสินค้าล้นตลาดจากนโยบายส่งเสริมการเร่งปลูกยางเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ไปจนถึงประเทศจีนที่คิดค้นสูตรปลูกยางเมืองหนาวขึ้นมาใช้สร้างผลผลิต
โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่มีปริมาณยางธรรมชาติในรูปของวัตถุดิบก่อนการแปรรูปคงค้างสต๊อกหลายล้านตัน/ปี จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี สอดคล้องกับพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในเวียดนาม ซึ่งขยายตัวมากกว่า 2 เท่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่กลับสวนทางกับความต้องการยางพาราตลาดโลกในปัจจุบันที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยความหดตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันถูก ส่งผลให้ปัจจุบันราคายางพารา/ตันในเวียดนามในรอบ 4 ปีมานี้ลดลงถึง 1 ใน 3 พร้อมกับมูลค่าการส่งออกที่ลดลงถึง 50% หรือราว 5.25 หมื่นล้านบาท จาก 1.12 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งเกษตรกรและนักลงทุน หลังเข้าไปลงทุนโครงการเพิ่มกำลังผลิตยางพาราทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ของเวียดนาม ขณะเดียวกันประเทศที่นำเข้ายางพาราจากเวียดนาม ทั้ง จีน อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ครองสัดส่วนราว 50% ของผลผลิตยางพาราเพื่อส่งออกจากเวียดนาม ที่ยังปรับลดอัตราการนำเข้าทุกปี
ดังนั้น หนทางสู่การฝ่าวิกฤตดังกล่าว อาจต้องอาศัยโมเดลของประเทศมาเลเซีย ที่มีประสบการณ์ด้านผลิตยางพารามากที่สุดในโลก โดยการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมปลายน้ำ อย่างอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งน้ำยางที่ผลิตได้ในประเทศเกือบทั้งหมดเข้าสู่การแปรรูป ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงจากการเพิ่มมูลค่ายางพาราราว 10-15 เท่า เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานของโลกอย่างอุตสาหกรรมถุงยาง เครื่องมือการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ตลอดจนผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคในประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความต้องการในประเทศ จนทำให้ควบคุมสมดุลของความต้องการได้โดยไม่ต้องพึ่งการส่งออก
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยางพาราของเวียดนามยังสามารถใช้กระแสเทคโนโลยีดิจิทัล ที่โดดเด่นของเวียดนาม เห็นได้จากการลงทุนตรง (เอฟดีไอ) ประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าไปลงทุนเกษตรกรรมไฮเทคและการเกิดขึ้นจำนวนมากของสตาร์ทอัพในประเทศ รวมถึงการขยายตัวของผู้ใช้มือถือและระบบอินเทอร์เน็ต ที่สามารถกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีลงสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางของมาเลเซียที่เน้นพัฒนานวัตกรรมการผลิตจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของต่างชาติผ่านการลงทุนเอฟดีไอ จนมีเทคโนโลยีการผลิตที่โดดเด่นในหลายสาขาอุตสาหกรรม ที่ลงตัวกับประชากรเวียดนามจำนวนเกือบครึ่งที่มีอายุน้อยและพร้อมผันตัวเป็นผู้ประกอบการโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา คือสร้างความต้องการ (ดีมานด์) ในประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดขึ้น โดยอาศัยฟันเฟืองสำคัญอย่างประชากรรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับมุมมองของ ปีเตอร์ บริมเบิ้ล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศเมียนมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจตลอดจนแก้ปัญหาสังคม นอกจากนี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจในประเทศไปสู่ตลาดด้วยการเพิ่มมูลค่า ซึ่งตลาดดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มีศักยภาพด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากจากภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับกลุ่มเอเชียซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่สามารถพัฒนาการค้าและอาชีพควบคู่ไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมภูมิภาค
รวมถึงด้านการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่สร้างโอกาสทางธุรกิจ
source: posttoday.com/biz/aec/scoop/452211