data-ad-format="autorelaxed">
ยางพาราไม่มีเอกสารสิทธิ์
1 เดือนจดทะเบียนชาวสวนยางไม่มีเอกสารสิทธิอืด ประธานบอร์ด กยท. เผยยอดยังไม่ถึง 4 พันราย เร่งกระตุ้นให้เข้าระบบ ลุ้นอนาคต “ประยุทธ์”สั่งอุ้มคนกลุ่มนี้ด้วย ขีดเส้นหมดเขต 30 ก.ย.นี้ อีกด้านบอร์ดไฟเขียวปล่อยกู้ตามมาตรา 49 (3) ให้ชาวสวนยางรายละ 1 แสนบาท คิดดอกเบี้ย 10%ต่อปี หากผิดนัดชำระหนี้คิดค่าปรับ 6% ต่อปี
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ความคืบหน้าในการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ได้มีการติดประกาศตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2559 ล่าสุดจากที่เปิดให้เกษตรกรมาลงทะเบียนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2559 มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 3,925 ราย ถือว่ายังน้อยมาก(ดูตารางประกอบ) ดังนั้นจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเร่งมาลงทะเบียน ได้ที่ กยท.จังหวัด สาขาใกล้บ้าน ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ามีเกษตรกรจำนวนเท่าไรกันแน่ ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลมีโครงการความช่วยเหลือ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง และความช่วยเหลืออาจตกถึงเกษตรกรในกลุ่มนี้ด้วย จึงอยากให้รีบมาลงทะเบียน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้เท่านั้น
สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะมาสมัครหรือลงทะเบียน จะต้องมีสัญชาติไทย มีสวนยางตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป เป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือผู้ทำสวนยาง กรณีเป็นผู้เยาว์ต้องมีหนังสือยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นนิติบุคคลจะต้องมีการมอบหมายผู้แทนมาแจ้งข้อมูล พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับที่ดิน (ถ้ามี) เช่น ภ.บ.ท.5 ,ภ.บ.ท.6 และ ภ.บ.ท. 11 เป็นต้น ที่สำคัญผู้แจ้งจะต้องให้พยานซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในพื้นที่สวนยางตั้งอยู่รับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินและการทำกิจกรรมปลูกยางโดยต้องลงลายมือชื่อเป็นพยานในแบบแจ้งข้อมูลให้ครบถ้วน
สอดคล้องกับนายสาย อิ่นคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดยาง) กล่าวว่า จากการประเมินคาดจะมีเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่ จะต้องประชาสัมพันธ์ว่าจะไม่มีการจับกุมหรือเข้าโค่นต้นยางซ้ำรอยในอดีต อย่างไรก็ดีการรับรองเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ มิใช่เป็นการรับรองสิทธิ์การเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และความชอบธรรมในการครอบครองสิทธิ์ในที่ดินสวนยาง
อย่างไรก็ดีในที่ประชุมบอร์ดยาง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) จำนวนไม่เกิน 35% หรือจำนวน 1,422.14 ล้านบาท ให้กู้ยืมแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ 1. เกษตรกรชาวสวนยาง ให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 1 แสนบาทถ้วน 2.ผู้ประกอบกิจการยางซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ให้กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท 3.ผู้ประกอบกิจการยางซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน ให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 10 เท่าของเงินทุนตัวเอง แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท 4.สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 10 เท่าของทุนเรือนหุ้นแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 5. ผู้ประกอบกิจการยางซึ่งเป็นนิติบุคคลให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 10 เท่าทุนจดทะเบียนแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท”
สำหรับระยะเวลาการให้กู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ กู้ยืมไม่เกิน 2 ปี แต่หากกู้เพื่อลงทุนในทรัพย์สิน ระยะเวลาให้กู้ยืมไม่เกิน 15 ปี โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 10% ต่อปี ตามหลักเกณฑ์ที่ กยท.เห็นชอบแล้ว หากเกษตรกรผิดนัดชำระหนี้จะคิดค่าปรับในอัตรา 6% ต่อปี เรื่องนี้ขอให้เกษตรกรเร่งมาใช้สิทธิ์ได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
source: thansettakij.com/2016/08/06/78457