data-ad-format="autorelaxed">
ระหว่างรอกรีดยาง เกษตรกรร้อยเอ็ด ปลูกมะละกอแซมป่ายางพารา ได้เงินหมุนเวียน 30,000 – 40,000 บาท
เกษตรบ้านดอนก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ มี คุณสีดา ผลาผล เป็นผู้ใหญ่บ้าน โทร. (086) 084-1591 เป็นแปลงยางพาราของ คุณสุวรรณ-คุณลุน สนิทพจน์ และ คุณสีดา ไชยรัตน์ เป็นแปลงยางพารา 15 ไร่ อายุยางพาราสูงสุด 5 ปี เขาใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงวัว จำนวน 7 ตัว ส่วนยางพาราอายุ 2-5 ปี พื้นที่ว่างระหว่างแถว 3x6 เมตร เกษตรกรใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำของ คุณยุทธพร ฝนทั่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ที่ได้รับมอบหมายจาก คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอเมืองสรวง
คุณสุวรรณ-คุณลุน สนิทพจน์ ให้ข้อมูลว่า ปี 2554 ลูกชายมาจากปักษ์ใต้พร้อมเพื่อน ที่เดินทางไปทำงานรับจ้างกรีดยางพารา เห็นคนใต้รวยๆ ยางพารา นำยางมาปลูก 10 ไร่ ระยะเวลาที่ยางพาราจะให้ผลผลิต มันยาวนาน 6-7 ปี ครอบครัวตนเองต้องกิน ต้องใช้ พร้อมได้รับคำแนะนำจาก “เกษตรตำบล” ให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า โดยแนะนำให้ปลูกข้าวโพด ตนเองปฏิบัติตามทันที ต้มขาย ขายสด พออยู่ได้ หมุนเวียนกับพืชผัก เช่น หอม ผัดกาดขาวปลี เขียวปลี กวางตุ้ง มะเขือเปราะ บร็อกโคลี่ ผักเสี้ยน ผักโขมที่ขึ้นเอง เก็บไปขายกำละ 3-5 บาท ได้เงินหมุนเวียนตลอดทั้งปี 30,000-4,000 บาท
คุณสุวรรณ บอกว่า พอตนเองปลูกยางพารา ตอนนี้ราคาลดลงๆ ดังที่ภาษาอีสานที่ว่า “คนจะโชคดี ไปขี้ก็พบเห็ด คนที่โชคไม่ดี ไปเก็บดันเหยียบขี้” วาสนาคนมันต่างกัน เลี้ยงวัวในป่ายางพารา เป็นรายได้รายปี 7 ตัว ให้ลูกทุกปี ที่นี่ตนเองเน้นการเกษตรอินทรีย์ ใช้มูลโค มูลกระบือ มูลไก่ ผักเขียวงามสดใสมากครับ มีรายได้ทุกวัน
ทางด้าน คุณสีดา ไชยรัตน์ เกษตรกรวัย 65 ปี กล่าวว่า ตนเอง ปลูกพริก มะเขือเทศ มะละกอ ให้ผลผลิตสูงมาก โดยเฉพาะมะละกอ เป็นพันธุ์พื้นเมือง ลูกโตมาก 3-5 กิโลกรัม/ผล ให้ผลผลิตตั้งแต่โคนต้น จนถึงยอด ใครเดินทางมาพบเห็นต่างขอเก็บพันธุ์ไว้ปลูก การปลูกไม่ได้ยุ่งยากมากนัก ขุดหลุมขนาดปี๊บ 20 ลิตร ผสมดิน ปุ๋ยคอก แกลบ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 มะละกอเจริญเติบโตดีมาก ต้านทานโรคและแมลง ลูกโต กินสุกรสชาติหวานหอม สามารถขายได้ 50-100 บาท มะละกอ 1 ต้น สามารถทำเงินได้มากกว่า 1,000 บาท
คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอเมืองสรวง กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก คุณเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตร โดยน้อมนำพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการตามแนวทฤษฎีใหม่ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองสรวง 5 ตำบล 49 หมู่บ้าน 3,855 ครัวเรือน ได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านเมืองแก้ว และมีศูนย์ ขยายครบ 5 ตำบล พร้อมให้คำตอบเกษตรกรได้ทั้งด้านการลดต้นทุน โซนนิ่ง แปลงใหญ่ การเกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้ฯ และธนาคารสินค้าเกษตร ให้เป็นไปตามนโยบายแห่งรัฐ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Single Command) อำเภอเมืองสรวง ดำเนินการตามนโยบาย ฯพณฯ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อมูลจาก matichon.co.th/news/141348