สำหรับลักษณะเด่นของยางพาราสายพันธุ์พื้นบ้านนี้มีความทนต่อโรค แมลงศัตรูพืช ทนต่อความเค็ม ทนต่อความแห้งแล้ง รากมีความแข็งแรงทนต่อลมพายุ และเป็นสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ยังไม่มีการผสมข้ามพันธุ์ใด ๆ
นายสมชาย ณ ประดิษฐ์ กรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า ได้พบสวนยางพาราของเกษตรกรบนเกาะบูบู ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และยังให้ผลผลิตน้ำยางได้ตามปกติ จึงเห็นว่าควรอนุรักษ์พันธุ์ยางชนิดนี้ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ และให้คนรุ่นหลัง ตลอดจนนักวิชาการได้ศึกษาเรียนรู้นำเมล็ดพันธุ์ไปผลิตเป็นกล้ายางเพื่อใช้เป็นต้นตอพัฒนาต่อยอดเป็นยางสายพันธุ์ใหม่ต่อไป
สำหรับลักษณะเด่นของยางพาราสายพันธุ์พื้นบ้านนี้มีความทนต่อโรค แมลงศัตรูพืช ทนต่อความเค็ม ทนต่อความแห้งแล้ง รากมีความแข็งแรงทนต่อลมพายุ และเป็นสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ยังไม่มีการผสมข้ามพันธุ์ใด ๆ หากนำไปพัฒนากับยางสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตสูงแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางของไทยเป็นอย่างมาก
ส่วนสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์ยางพาราสายพันธุ์ต่าง ๆ คือ บริเวณพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ยางพาราจังหวัดกระบี่ ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เนื่องจากมีพื้นที่จำนวนมากกว่า 2,100 ไร่ และในปัจจุบันก็ดำเนินงานเกี่ยวกับพันธุ์ยางอยู่แล้ว มีการผลิตต้นตอตายางพันธุ์ดี การผลิตกิ่งตายาง การผลิตยางชำถุง การผลิตกล้าปาล์มน้ำมัน ผลผลิตจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน ตลอดจนเป็นแปลงสาธิตยางพาราพันธ์ุต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่พนักงาน เกษตรกร และบุคคลทั่วไป จัดทำแปลงสาธิตการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น หากเพิ่มหน้าที่ในการอนุรักษ์สายพันธุ์ยางพาราพันธ์ุนี้ด้วยก็น่าจะอยู่ในศักยภาพที่สามารถทำได้.
ข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th