data-ad-format="autorelaxed">
จับตา ไทยรักษาแชมป์ ผู้นำยางพาราโลก
แม้ผลผลิตเราจะสูง แต่ต้นทุนการผลิตเราไม่ลดลง ศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเราก็ด้อยลงด้วย
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้วางยุทธศาสตร์ที่จะรักษาความเป็นผู้นำยางพาราของโลกให้ได้ต่อไป แม้ราคายางพาราจะตกต่ำในช่วงนี้ แต่ถ้าเทียบกับพืชไร่อื่น ๆ แล้ว ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพียงแต่เกษตรกรจะต้องลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 274 กิโลกรัมต่อไร่
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ สกย. รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สกย. เปิดเผยว่า โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้ได้อีก 4 กิโลกรัม เป็น 278 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และมีเป้าหมายสูงสุดที่ตามแผนวิสาหกิจคือเฉลี่ย 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีในปี 2559 ซึ่งอาจจะยาก แต่ก็สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ยางพาราในพื้นที่ภาคใต้สามารถทำได้เฉลี่ยประมาณ 280 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีแล้ว สวนยางพาราบางแห่งผลผลิตทะลุ 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีไปแล้วก็มี
นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ยางพาราของไทยยังให้ผลผลิตสูงกว่า จะมีต่ำกว่าเฉพาะประเทศอินเดียเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาการกรีดต่อปีนั้นไทยมีระยะเวลาการกรีดที่ยาวนานกว่า
ดังนั้นการแข่งขันในเรื่องผลผลิตยางต่อไร่ต่อปีของไทย สามารถสู้กับต่างประเทศได้ไม่มีปัญหา และในอนาคตหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้ตามแผนวิสาหกิจแล้ว ยิ่งไม่น่ากังวลในเรื่องผลผลิต แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยก็คือ การลดต้นทุนการผลิต เพราะไทยจะเสียเปรียบในเรื่องค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกยางพารายกเว้น มาเลเซีย
’แม้ผลผลิตเราจะสูง แต่ต้นทุนการผลิตเราไม่ลดลง ศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเราก็ด้อยลงด้วย ดังนั้น สกย.นอกจากจะมีแผนเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังมีแผนลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย“ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สกย. กล่าว
ในการเพิ่มผลผลิตตัวแปรสำคัญที่มีผลมากที่สุดก็คือ พันธุ์ยางพารา ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำพันธุ์ 251 ให้เกษตรกรนำไปปลูก มีลักษณะเด่น คือ เจริญเติบโตก่อนเปิดกรีดดีและระหว่างเปิดกรีดเจริญเติบโตปานกลาง มีความสม่ำเสมอของขนาดลำต้นทั้งแปลงดี ทำให้มีจำนวนต้นเปิดกรีดมาก ที่สำคัญยังให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งสูงมาก ในพื้นที่ปลูกยางเดิมให้ผลผลิต 10 ปีกรีด เฉลี่ย 462 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และพื้นที่ปลูกยางใหม่ให้ผลผลิต 8 ปีกรีด เฉลี่ย 343 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี แต่ไม่เหมาะกับการปลูกในพื้นที่สูงบนเขา
ส่วนอีกพันธุ์คือ พันธุ์ RRIM 600 แม้จะให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์ 251 แต่สามารถปลูกในที่ลาดชันได้ โดยในพื้นที่ปลูกยางเดิมจะให้ผลผลิต 10 ปีกรีด เฉลี่ย 297 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ส่วนพื้นที่ปลูกยางใหม่ให้ผลผลิต 9 ปีกรีด เฉลี่ย 240 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี ) ในปี 2558 จะทำให้ไทยสามารถนำพันธุ์ยางของมาเลเซียที่ให้ผลผลิตสูงมาปลูกได้ แต่ก็คงจะปลูกในพื้นที่ใหม่ได้ไม่มากนัก เพราะโครงการปลูกยางล้านไร่ในพื้นที่ปลูกยางใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริมนั้นได้สิ้นสุดโครงการแล้ว การที่จะโค่นสวนยางเก่าเพื่อมาปลูกยางพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งปกติในแต่ละปี สกย.ได้ตั้งเป้าที่จะโค่นสวนยางเก่าที่มีอายุประมาณ 25 ปี และยางที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมประมาณปีละ 300,000 ไร่อยู่แล้ว หากเกษตรกรต้องการปลูกยางใหม่ก็จะแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูง โดยเกษตรกรจะได้รับเงินสงเคราะห์ 16,000 บาทต่อไร่ ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตยางจะให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดคงเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป
อีกตัวแปรหนึ่งที่จะเพิ่มผลผลิตได้ก็คือ การดูแล บำรุงรักษา ให้ถูกต้องตามที่ สกย.แนะนำว่า ใส่ปุ๋ยถูกหรือไม่ กรีดยางก่อนกำหนดหรือไม่ และกรีดยางถูกวิธีหรือไม่ รวมทั้งปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มไม่ควรปลูกอย่างยิ่ง เช่น ในพื้นที่ลุ่มของจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่ง สกย.แนะนำให้โค่นทิ้งแล้วไปปลูกปาล์มน้ำมันจะให้ผลคุ้มค่ากว่า รวมทั้งยังได้รับเงินสงเคราะห์จาก สกย.ถึงไร่ละ 26,000 บาท อีกด้วย
ดังนั้นหากเกษตรกรชาวสวนยางของไทย ใช้พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูง ดูแลบำรุงรักษาที่ถูกต้อง และปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ผลผลิตก็จะสูงขึ้นและต้นทุนการผลิตก็จะลดลงสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางของไทยมีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกยางพารา แม้ผลผลิตยางเฉลี่ยจะต่ำกว่าไทยบ้าง แต่เกษตรกรที่ปลูกยางส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจ หรือไม่ก็เป็นกิจการของรัฐ มีพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ต่อราย จึงมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุนการผลิตได้ง่าย ใช้เวลาไม่มากนัก ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อยปลูกประมาณครอบครัวละ 10-20 ไร่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงอำนาจในการต่อรองต่ำ การแข่งขันกับเพื่อนบ้านอาจจะสู้ไม่ได้
ดังนั้น สกย.จึงได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มอำนาจในการต่อรอง และลดต้นทุนการผลิต
’สมมุติว่า ในชุมชนทุกคนผลิตยางแผ่น ต้นทุนก็จะสูงเพราะทุก ๆ คน ต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางแผ่น แต่ถ้ารวมกลุ่มกันสร้างแค่ 1 แห่ง ต้นทุนก็ถูกลง คุณภาพก็เหมือนกันทั้งชุมชน เช่นเดียวกับโรงงานผลิตยางแท่ง หรือ น้ำยางข้น ก็สามารถทำได้ในลักษณะเดียวกัน แต่ทั้งนี้จะต้องมีความสามัคคี มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบยุติธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่ง สกย.มุ่งหวังที่จะผลักดันกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นให้เป็นนิติบุคคล เพราะจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยมีสมาชิกชาวสวนยางในแต่ละชุมชนเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ แม้ราคายางไม่ตกต่ำอย่างเช่นในปัจจุบันก็ตาม“ นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางขณะนี้ตั้งไปแล้วประมาณ 3,000 กลุ่มกระจายทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล
จะเห็นได้ว่า ข้อเสียเปรียบของยางพาราของไทย สามารถที่จะแก้ไขหรือบรรเทาได้ ในขณะเดียวกันไทยมีข้อได้เปรียบมากมาย เช่น มีลักษณะภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เหมาะสม ไม่อยู่ในเขตมรสุม ต่างจากคู่แข่งอย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้กระทั่งลาว จะมีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวกรีดยางน้อยกว่าไทยมาก เพราะต้องเจอมรสุม หรือฝนตกหนักเป็นระยะเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ไทยยังมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งค่อนข้างดี
“แม้ เออีซี จะเกิดขึ้นในปี 2558 หากเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทยมีความสามัคคี ใช้ยางพันธุ์ดี มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสามารถรวมกลุ่มกันได้แล้ว ผมมั่นใจว่า ไทยก็ยังจะเป็นผู้นำในการผลิตยางพาราของโลกต่อไปได้อย่างแน่นอน” รองผู้อำนวยการ สกย. รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สกย. กล่าวด้วยความมั่นใจ...
อ้างอิง dailynews.co.th