data-ad-format="autorelaxed">
ประวัติปาล์มน้ำมัน ความเป็นมาและความสำคัญของปาล์มน้ำมัน ปาล์มน้ำมันเป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอัฟริกา เป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันทุกชนิด (640-800 กิโลกรัมน้ำมันต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่) และเป็นพืชน้ำมันที่มีการผลิตทั่วโลกเป็นอันดับสอง คือ ประมาณ 25% หรือคิดเป็นปริมาณผลิต 23.355 ล้านตัน ในปี 2544 รองจากน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 28%โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก (52%) และอินโดนีเซียเป็นอันดับสอง (32 %) ส่วนประเทศไทยถึงแม้จะมีอันดับการผลิตอยู่อันดับที่ 4 ของโลก แต่มีสัดส่วนการผลิตเพียง 2% เท่านั้น คือ มีพื้นที่ปลูกถึงปี 2547ประมาณ 2.19 ล้านไร่ และมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 0.68 ล้านตัน และผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 775,000 ตัน โดยใช้ในการอุปโภคทั้งหมด ปาล์มน้ำมันเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและเป็นพืชยืนต้น (perennial crop) ได้จำแนกปาล์มน้ำมันให้อยู่ในวงศ์ (family) Palmae หรือ Arecaceae (monocotyledon) ปาล์มน้ำมันเป็นพืชผสมข้าม ประเภทที่มีช่อดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่ช่วงเวลาการออกดอกจะไม่พร้อมกัน เป็นพืชดิพลอยด์มีจำนวนโครโมโซม 2n =2x=32 และในสกุล (genus) Elaeis ประกอบด้วยปาล์มน้ำมัน 2 ชนิด (species) ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeis guineensis Jacq. ในปัจจุบันเป็นพันธุ์ปลูกเพื่อการค้า เดิมมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก คำว่า Elaeis มีความหมายตรงกับคำ elaion ซึ่งแปลว่า น้ำมัน ส่วนคำว่า guineensis มีความหมายว่า แหล่งรวบรวมอยู่ที่ ประเทศ Guinea แอฟริกาตะวันตก ลักษณะของปาล์มน้ำมัน E. guineensis ให้ผลผลิตทะลายสูง มีน้ำหนักผล เปลือกนอกต่อผลและผลผลิตน้ำมันสูง ส่วนอีก species หนึ่งคือ ปาล์มน้ำมัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeis oleifera มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ลักษณะต้นเตี้ยและต้านทานต่อโรคตาเน่า (Lethal bud rot) เปอร์เซ็นต์กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (unsaturated fatty acid) ค่าไอโอดีนสูง (iodine value) ประมาณ 77-78 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งมีวิตามินเอและวิตามินอีีสูงแต่ให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันน้อยกว่าปาล์มน้ำมัน E.guineensis ปัจจุบันมีประโยชน์ในการเป็นเชื้อพันธุกรรมสำหรับปรับปรุงพันธุ์ โดยการผสมข้ามระหว่าง Species
ปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชที่ให้น้ำมัน 2 ชนิด คือ น้ำมันปาล์มจากเปลือกผลปาล์ม ซึ่งมีปริมาณน้ำมันประมาณ 22% ของน้ำหนักทะลาย น้ำมันปาล์มมีองค์ประกอบทางเคมีเกี่ยวข้องกับวิตามินที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ วิตามินอี และสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ มีปริมาณสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ
น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัว (กรดลอริก,ไม่ริสติก,บัลมิติกและสเตียรริก)รวมกันปริมาณ 52% และมีกรดไขมันอิ่มตัว (โอลิอิก,ลิโนลิอิก และลิโนลินีอิก) รวมกันประมาณ 48 % น้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่สกัดได้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันดิบยังไม่สามารถบริโภคได้ต้องนำไปทำการกลั่นให้เป็นน้ำมันบริสุทธิ์ด้วยกระบวนการแยกยางเหนียว ลดกรด ฟอกสี และดูดกลิ่น ได้เป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และมีผลพลอยได้ คือ กรดไขมัน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดนี้เรานำไปใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างมากมาย เช่น ทำเป็นน้ำมันปรุงอาหาร น้ำมันทอด ผลิตนมข้น ไอศกรีม เนยเทียม เนยขาว ใส้ขนมปังกรอบ เนยโกโก้ ครีมเทียม คอฟฟีเมท ไขมันทำขนมปัง สบู่ เทียนไข ผงซักฟอก ยาสีฟัน และใช้ในอุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคัลอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญที่สุดในยุคน้ำมันปิโตรเลียมแพง ก็คือ ใช้เป็นวัตถุในการผลิตเมทิลเอสเตอร์ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซล หรือที่เรานิยมเรียกว่า ไบโอดีเซล นั่นเอง ซึ่งการผลิตเมทิลเอสเตอร์จะเป็นการนำเอาน้ำมันปาล์มมาทำปฏิกิริยากับเมทานอล โดยมีโซดาไฟ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ เรียกว่าปฏิกิริยาทรานเอสเตอร์ฟิเคชั่นได้เป็นเมทิลเอสเตอร์ และกรีเซอรอลเป็นผลพลอยได้
อ้างอิง : http://aomamm777.multiply.com/