data-ad-format="autorelaxed">
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันสูง ทำให้มีต้นทุนการผลิตและราคาต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันพืชของโลกจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วแต่ ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ทุกประเทศพยายามที่จะให้มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน ส่งผลให้น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าหนึ่งที่ไทยมีความเสียเปรียบ
ปัญหาของพืช ข้อจำกัดและโอกาส :
- ต้นทุนการผลิตสูง
- ลักษณะพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพต่ำ (พันธุ์ปลอม) ความเสียหายเมื่อนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพต่ำไปปลูก คือ ผลผลิตทะลายปาล์มสดและน้ำมันที่สกัดได้จะลดลง
- แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เชื่อถือได้มีน้อย
- ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก จะต้องปลูกในพื้นที่ๆประกาศเป็นเขตเกษตรเศรษฐกิจ
- พื้นที่ปลูกประเทศไทยยังมีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม หากมีการแก้ไขปรับปรุงการใช้พื้นที่ปลูก การใช้พันธุ์ดี การใช้เทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสม และมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำมัน
ลักษณะทั่วไป :
ปาล์มน้ำมัน ชอบสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกและสม่ำเสมอตลอดปี ความชื้นสูง แสงแดดจัด พื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศ จึงมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การปลูกปาล์มน้ำมัน โดยในปัจจุบันปาล์มน้ำมันยังสามารถปลูกได้ในภาคตะวันออกของประเทศด้วย แต่ผลผลิตที่ได้รับโดยทั่วไป เฉลี่ยยังต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย
พันธุ์ส่งเสริม :
พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมพันธุ์เทเนอรา (D x P) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ได้จากการผสมระหว่างพ่อพันธุ์พิสิเฟอรา (Pisifera) และแม่พันธุ์ดูรา (Dura)
พื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูก :
ประเทศไทยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี และตราด
พันธุ์ปาล์ม :
พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ลูกผสมเทเนอร่า (DxP) พันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1 พันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 และ พันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3การให้ผลผลิต และรักษาลักษณะต่างๆ ที่สำคัญของปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี เฉลี่ย ปี (อายุ 6-11 ปี)
1. พันธุ์ปาล์มลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1
- สายพ่อพันธุ์ - Calabar
- ผลผลิตทะลายสด (กก./ไร่/ปี) - 160.78
- น้ำมันทะลาย (%) - 26.9
- ผลผลิตน้ำมัน (กก./ไร่) - 986
- ความสูง อายุ 9 ปี (ซม.) - 208
พันธุ์ : ลูกผสมสุราษฏร์ธานี1
วันที่รับรอง : 21 พฤศจิกายน 2540
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์แนะนำ
ประวัติสายพันธุ์ :
ปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1 คือ ปาล์มน้ำมันลูกผสมหมายเลข 38 เป็นพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์ดูร่า C 2120 : 184 D กับพ่อพันธุ์พิสิเฟอร่า IRH 629 : 319 T โดยมีการสั่งซื้อ เชื้อพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากบริษัท ASD ประเทศคอสตาริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530-2531 ในปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา ได้ทำการปลูกเปรียบเทียบ และทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมกับพันธุ์มาตรฐาน จนได้พันธุ์ลูกผสม ที่ดีเด่น 6 พันธุ์ และได้นำเสนอกรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์แนะนำ 1 พันธุ์ คือ พันธุ์ลูกผสมหมายเลข 38 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรแนะนำพันธุ์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 ให้ชื่อ พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1
ลักษณะดีเด่นประจำพันธุ์ :
1. มีลักษณะต้นเตี้ยกว่าพันธุ์มาตรฐาน 142 ปาล์มน้ำมันลูกผสม หมายเลข 38 อายุได้ 6 ปี มีความสูง 732 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์มาตรฐาน 142 มีความสูง 84 เซนติเมตร
2. มีสีผลพิเศษ คือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นจะมีผลของทะลายเป็นสีเขียว เมื่อผลดิบ และจะเปลี่ยนป็นสีเหลืองส้ม เมื่อผลสุกสังเกตง่ายต่อผู้เก็บเกี่ยวทะลาย ต้นที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์จะมีสีผลปกติ ส่วนพันธุ์มาตรฐาน 142 จะมีสีผลปกติ คือ ผลดิบจะมีสีดำ และเมื่อสุกจะมีสีส้มแดง ทำให้ยากต่อการสังเกต
ข้อจำกัดของสายพันธุ์ :
- เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) จึงไม่สามารถนำเมล็ดต่อจากเมล็ดชั่วที่ 1 (F2) ไปปลูกได้
พื้นที่แนะนำ :
ควรปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน(L1) และพื้นที่ที่เหมาะสม ปานกลาง(L2) สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน จากการศึกษาการวิเคราะห์พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน กรมวิชาการเกษตร
2. พันธุ์ปาล์ม - ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2
- สายพ่อพันธุ์ - Lame
- ผลผลิตทะลายสด (กก./ไร่/ปี) - 168.91
- น้ำมันทะลาย (%) - 23.5
- ผลผลิตน้ำมัน (กก./ไร่) - 905
- ความสูง อายุ 9 ปี (ซม.) - 187
พันธุ์ : ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2
วันที่รับรอง : 5 กันยายน 2544
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์แนะนำ
ประวัติสายพันธุ์ :
ในปี 2533 ศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี ได้ทำการปลูกทดสอบปาล์มน้ำมันลูกผสม ในกลุ่มที่ 2 จำนวน 18 คู่ผสม เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน 142 จนถึงปี 2542 ได้ คัดเลือกลูกผสมที่มีลักษณะดีให้ผลผลิตสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน คือปาล์มน้ำมันลูกผสม หมายเลข 37 ได้มาจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อ IRH 618 (LAMET) หรือ พ่อพันธุ์ หมายเลข 106 กันพันธุ์แม่ C2120 (Deli Dura) หรือพันธุ์แม่หมายเลข 67 ซึ่ง ASD ทำการผสมและส่งเมล็ดงอกมาให้ ศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานีทำการเพาะกล้า และ ปลูกทดสอบเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานดังที่กล่าวมาแล้ว
ลักษณะดีเด่นประจำพันธุ์ :
1. การให้ผลผลิตในแต่ละปีสม่ำเสมอ แม้ว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
2. ต้นเตี้ยกว่าพันธุ์มาตรฐาน 142 และพันธุ์ปาล์มลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1 ประมาณ 30 และ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
3. ให้จำนวนทะลายสูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน 142 และพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1
4. มีก้านทะลายยาว ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว
5. ขนาดเนื้อในต่อผลมากเป็นพิเศษ (9.9 เปอร์เซ็นต์) เหมาะสำหรับใช้ทำ เครื่องสำอางในอนาคต
ข้อจำกัดของสายพันธุ์ :
เนื่องจากเป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 จึงไม่สามารถนำเมล็ดที่ได้ไปทำพันธุ์เพื่อปลูกต่อได้
พื้นที่แนะนำ :
ควรปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเขตการปลูกปาล์มน้ำมันภาคใต้ คือ ควรปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน L1 และปลูกในพื้นที่ เหมาะสมปานกลาง L2 (จากการศึกษาการวิเคราะห์พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน กรมวิชาการเกษตร)
3. พันธุ์ปาล์ม - ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3
- สายพ่อพันธุ์ - DAMI
- ผลผลิตทะลายสด (กก./ไร่/ปี) - 139.97
- น้ำมันทะลาย (%) - 26.3
- ผลผลิตน้ำมัน (กก./ไร่) - 839
- ความสูง อายุ 9 ปี (ซม.) - 208
พันธุ์ : ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3
วันที่รับรอง : 5 กันยายน 2544
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์แนะนำ
ประวัติสายพันธุ์ :
เป็นลูกผสมระหว่าง พันธุ์พ่อ DAM 585 : 343T (DAMI T) หรือพันธุ์หมายเลข 116 กับ พันธุ์แม่ HC 133 : 1288 D (Deli Dura) หรือพันธุ์หมายเลข 64 โดยบริษัท ASD ประเทศคอสตาริก้า ทวีปอเมริกากลาง แล้วส่งเมล็ดงอกมาเพื่อปลูกทดสอบและ คัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานี ตามโครงการวิจัยและพัฒนาปาล์ม น้ำมันแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปี 2542 ได้คัดเลือกคู่ผสมที่ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะดีตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ ลูกผสมหมายเลข 23
ลักษณะดีเด่นประจำพันธุ์ :
1. ปาล์มน้ำมันลูกผสมสราษฎร์ธานี 3 ให้น้ำมันดิบต่อทะลายเฉลี่ย 27 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน ซึ่งให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันดิบต่อทะลาย 26 เปอร์เซ็นต์
2. ผลผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย (4 ปี) 760 กิโลกรัม/ไร่/ปี สูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน 11.7 เปอร์เซ็นต์
3. ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย (4 ปี) 2,813 กิโลกรัม/ไร่/ปี สูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน 10 เปอร์เซ็นต์
- ในสภาพแวดล้อมเหมาะสม ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย 3,625 กก./ไร่/ปี
- ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,357 กก./ไร่/ปี
ข้อจำกัดของสายพันธุ์ :
เนื่องจากเป็นพันธุ์ลูกผสม ชั่วที่ 1 (F1) จึงไม่สามารถนำเมล็ดที่ได้ไปทำพันธุ์ เพื่อปลูกต่อไป หรือเพาะปลูกต่อไปได้
พื้นที่แนะนำ :
ควรปลูกในพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน (L1) ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ในภาคใต้ และมีการจัดการสวนปาล์มที่ดี (L1 หมายถึง พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1800 มม./ปี)
4. พันธุ์ปาล์ม - พันธุ์มาตรฐาน
- สายพ่อพันธุ์ - AVROS
- ผลผลิตทะลายสด (กก./ไร่/ปี) - 130.40
- น้ำมันทะลาย (%) - 25.8
- ผลผลิตน้ำมัน (กก./ไร่) - 767
- ความสูง อายุ 9 ปี (ซม.) - 243
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมัน :
- ดินควรมีความอุดมสมบรูณ์ปานกลางถึงดี
- ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1600 มม./ปี
- มีช่วงแล้งไม่เกิน 3-4 เดือน
- การเตรียมพื้นที่ ควรเตรียมในฤดูแล้งในระหว่างเดือน มกราคม-เมษายน
การเตรียมต้นกล้าปาล์ม :
ระยะอนุบาลแรก (0-3 เดือน) ควรเตรียมในเรือนเพาะชำ โดยเพาะชำต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำ ขนาด 6x7 หรือ 6x9 นิ้ว หนาอย่างน้อย 0.06 มม. จนต้นกล้ามีใบงอก 3-4 ใบ หรือต้นกล้าอายุประมาณ 3 เดือน จึงย้ายใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ในระยะนี้ต้องคัดทิ้งต้นกล้าประมาณ 5-15 % ที่มีลักษณะต้นเตี้ย และแคระแกร็น
ระยะอนุบาลหลัก (3 -12 เดือน) ควรเพาะต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำหนาอย่างน้อย 0.12 มม. ใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาดไม่ต่ำกว่า 15x18 นิ้ว วางไว้ในแปลงกลางแจ้ง ในระยะนี้ต้องคัดทิ้งต้นกล้าประมาณ 5-10 % และในขณะขนย้ายต้นกล้าไปปลูก ในแปลงปลูกจริงต้องคัดทิ้งต้นกล้าที่ผิดปกติและไม่สมบูรณ์อีกประมาณ 2-5%
การจัดวางต้นกล้า ควรจัดวางต้นกล้าเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะระหว่างถุงไม่ควรต่ำกว่า 75 ซม. โดยจัดแปลงแยกเป็นกลุ่มๆ ตามอายุต้นกล้า ไม่ปะปนกันมีป้ายแสดงให้เห็นชัดเจน
การดูแลรักษาต้นกล้า มีการให้น้ำในปุ๋ย กำจัดวัชพืช ควบคุมโรค และแมลง ตลอดจนการเตรียมต้นกล้า พร้อมนำไปปลูกในแปลงปลูกจริง ควรปฏิบัติตามหลักวิชาการ
การเลือกต้นกล้า ต้นกล้าที่แนะนำให้ปลูกเป็นต้นกล้าอายุ 12 เดือน ต้นสมบูรณ์แข็งแรง มีความสูงระหว่าง 100-150 เซนติเมตร จากระดับดินในถุง และมีใบประกอบรูปขนนก จำนวนอย่างน้อย 9 ใบ
การวางแนวปลูก ให้แถวปลูกหลักอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า
ระยะปลูกปาล์มน้ำมันที่เหมาะสม :
ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากพ่อพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ
ระยะปลูกสำหรับพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสม
1. Dell Dura x AVROS - ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะปลูก 9.00 (ม.) - จำนวน 22 ต้นต่อไร่
2. Dell Dura x Ekona - ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะปลูก 8.75 (ม.) - จำนวน 24 ต้นต่อไร่
3. Dell Dura x Ghana - ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะปลูก 8.50 (ม.) - จำนวน 25 ต้นต่อไร่
4. Dell Dura x La Me' - ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะปลูก 9.00 (ม.) - จำนวน 22 ต้นต่อไร่
การให้น้ำปาล์มน้ำมัน :
ในสภาพพื้นที่ที่ช่วงฤดูแล้งยาวนาน หรือสภาพพื้นที่ที่มีการขาดน้ำมากกว่า 250 มม./ปี ถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอควรมีการให้น้ำเสริมในฤดูแล้ง ในปริมาณ 150-200 ลิตร/ต้น/วัน
การตัดแต่งทางใบปาล์มน้ำมัน :
ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงปีที่ 6 ควรไว้ทางใบ 7-8 รอบ (56-64 ทางใบ) ต้นที่โตเต็มที่ควรไว้ทางใบ 4.5-6.5 รอบ (36-48 ทางใบ) ไม่ควรตัดแต่งทางใบจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดทางใบให้เหลือรองรับทะลายปาล์ม 2 ทาง (ชั้นล่างจากทะลาย) และทางใบที่ตัดแล้ว ควรนำมาเรียงกระจายแถวเว้นแถว และวางสลับแถวกันทุกๆ 4-5 ปี เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ให้กระจายทั่วแปลง
การใช้ทะลายเปล่าคลุมดิน :
ทะลายเปล่าที่นำมาจากโรงงาน ควรนำมากองทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำไปวางกระจายไว้รอบโคนต้น โดยใส่ทะลายเปล่า อัตรา 150-225 ก.ก./ต้น/ปี
การลดจำนวนต้นปาล์มต่อไร่เพื่อรักษาระดับผลผลิตให้สูง :
ควรลดจำนวนต้นปาล์มจาก 22 ต้น/ไร่ ให้เหลือประมาณ 19 ต้น/ไร่ เมื่อปาล์มมีอายุ 10 ปี โดยเลือกคัดต้นปาล์ม ที่มีลักษณะผิดปกติและมีผลผลิตน้อย หรือไม่ให้ผลผลิตออก โดยใช้วิธีกำจัดต้นปาล์มด้วยสารเคมี คือ เจาะรูที่โคนต้นปาล์มสูงจากดิน 30-90 ซม. เจาะลึกประมาณ 10-20 ซ.ม. ให้ทำมุม 45 องศา ลงดินและใส่สารเคมี กรัมม๊อกโซน 100 มิลลิลิตร ผสมน้ำให้ได้ 200 มิตร ต่อต้น
การปลูกปาล์มน้ำมัน :
ควรปลูกปาล์มน้ำมันในช่วงฤดูฝน ไม่ควรปลูกช่วงปลายฤดูฝนต่อเนื่องฤดูแล้ง ข้อควรระวังหลังจากปลูกไม่ควรเกิน 10 วัน จะต้องมีฝนตก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปลูกในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปลูกช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม เตรียมหลุมปลูกขนาด 45x45x35 เซนติเมตร
การให้ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน :
วิธีที่ 1 : ใช้ลักษณะอาการที่มองเห็นที่ต้นปาล์ม แสดงอาการขาดธาตุอาหาร
วิธีที่ 2 : ใส่ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบปาล์มน้ำมันเป็นวิธีที่นิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน
***ในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บตัวอย่างใบส่งไปวิเคราะห์ทางเคมีได้ กรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำการใส่ปุ๋ย ดังนี้ ควรกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยเคมีและต้องใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยเมื่อฝนตกหนัก
การใส่ปุ๋ยเคมีเมื่อปาล์มน้ำมันอายุต่างๆ กัน :
อายุปาล์ม 1 - 4 ปี - ใส่ปุ๋ย N,K และ Mg - .ใส่บริเวณรอบโคนต้นที่กำจัดวัชพืชแล้ว - ใส่ ปุ๋ย P -ใส่บริเวณโคนต้นห่างจากโคนต้น 50 ซม. ถึง 2.50 เมตร
อายุปาล์ม 5 – 9 - ใส่ปุ๋ย N,K และ Mg - .ใส่บริเวณรอบโคนต้นที่กำจัดวัชพืชแล้ว - ใส่ ปุ๋ย P - ใส่บริเวณรอบโคนต้นห่างจากโคนต้น 2.50 เมตร ถึง บริเวณปลายทางใบ
อายุปาล์ม 10 ปีขึ้นไป - ใส่ปุ๋ย N,K และ Mg และ ปุ๋ย P - หว่านบริเวณระหว่างแถวปาล์มที่กำจัดวัชพืชแล้ว หรือบนกองทางใบที่ถูกตัดแต่ง
ศัตรูของปาล์มน้ำมันและการป้องกันกำจัด :
โรคปาล์มน้ำมันที่สำคัญ
1. โรคใบไหม้
พบมากในระยะต้นกล้าหากรุนแรงทำให้ต้นกล้าถึงตายได้
2. โรคก้านทางใบบิด
พบในต้นปาล์มน้ำมันอายุ 1-3 ปี หลังจากนำลงปลูกในแปลง โรคนี้มีผลให้การเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมัน หยุดชะงักไประยะหนึ่ง
สาเหตุ : ความผิดปกติทางพันธุกรรม
ลักษณะอาการ : ใบยอดที่ยังไม่คลี่มีอาการอ่อนโค้งไม่ตั้งตรง เกิดแผลสีน้ำตาลแดงลักษณะฉ่ำน้ำที่กลางใบยอด เมื่อทางยอดคลี่ออก ก้านทางโค้งงอลงตรงบริเวณที่เกิดแผล ในบางครั้งไม่เกิดแผลแต่ทางจะโค้งงอที่กึ่งกลางทาง
การป้องกันกำจัด :
ตัดทางใบที่เป็นโรคออกโดยตัวให้ต่ำกว่าส่วนของเนื้อเยื่อที่เน่าในกรณีที่มีอาการเน่าเกิดขึ้น
เลือกต้นกล้าจากสายพันธุ์ที่ไม่มีประวัติการเป็นโรคนี้
3. โรคยอดเน่า
โรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน เข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมันตั้งแต่ในระยะกล้า แต่ส่วนใหญ่มักจะพบโรคนี้กับต้นปาล์มน้ำมัน อายุ 1-3 ปี
สาเหตุ : ความผิดปกติทางพันธุรรม และเชื้อราเข้าทำลาย
ลักษณะอาการ เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำขอบแผลลักษณะฉ่ำน้ำที่บริเวณใกล้ๆ โคนใบยอดที่ยังไม่คลี่ บางครั้งจะพบอาการเน่าดำเริ่มจากปลายใบย่อยที่ยังไม่คลี่ จากนั้นแผลเน่าดำจะขยายทำให้ใบยอดทั้งใบเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย
การป้องกันกำจัด :
ดูแลบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันอย่าให้มีวัชพืชปกคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นที่หลบซ่อนของแมลง ที่จะไปกัดบริเวณส่วนยอด ทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วราดบริเวณกรวยยอดของต้นที่เป็นโรคด้วยสารเคมี
- ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช ไทแรม 75% /WP อัตราการใช้ 130 กรัม / น้ำ 20 ลิตร
- วิธีการใช้ / ข้อควรระวัง ผสมสารจับใบราดบริเวณกรวยยอดของ ต้นปาล์มอายุ 1-3 ปี
หรือใช้ แมนโคเซ็บ 70%WP
- อัตราการใช้ 150 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบราดบริเวณยอดต้นปล์ม
4. โรคทะลายเน่า
โรคจะเข้าทำลายผลปาล์มก่อนที่จะสุก พบเสมอกับต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 3-9 ปี ระบาดมากในฤดูฝน ที่มีความชื้นสูง เป็นมากกับปาล์มที่มีการผสมไม่ดี
สาเหตุ : เชื้อเห็ด
ลักษณะอาการ เชื้อราจะสร้างเส้นใยสีขาวปกคลุมอยู่บนทะลายปาล์มน้ำมันที่ยังไม่สุก โดยเจริญอยู่ระหว่างผลปาล์มน้ำมัน เมื่อผลปาล์มน้ำมันใกล้จะสุกเส้นใยของเชื้อจะเจริญเข้าไปในผลปาล์ม ทำให้เปอร์เซ็นต์กรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการให้น้ำมันน้อยลง ผลนิ่ม เกิดการเน่าเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเมื่อปล่อยไว้นานๆ ผลที่เน่านั้นจะมีสีดำ ในบางครั้ง จะพบเส้นใยสีขาวลักษณะคล้ายพัดที่บริเวณฐานของทางใบ โดยเฉพาะฐานของใบที่รองรับทะลายปาล์มที่ถูกทำลาย ในสภาพที่อากาศมีความชื้นมากเส้นใยจะมีสีขาว และพบดอกเห็ดที่บนทะลายปาล์มน้ำมัน โดยดอกเห็ดมีสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ของดอก 5-8 ซม. กลีบหมวกจะงอกกลับขึ้นข้างบนเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่
การป้องกันกำจัด :
ตัดแต่งทางใบ ดอกที่ไม่ได้รับการผสม หรือผสมไม่ดี รวมถึงเศษเกสรดอกตัวผู้ที่แห้งที่เป็นโรคออกให้หมด และเผาทำลายนอกแปลง
5. โรคลำต้นเน่า
พบมากกับต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ปัจจุบันพบว่าโรคนี้เริ่มระบาดมากกับต้นปาล์มอายุ 10-15 ปี
สาเหตุ : เชื้อเห็ด
ลักษณะอาการ : เชื้อราจะเข้าทำลายที่รากเข้าสู่โคนต้น อาการภายนอกที่พบคือ ใบมีสีซีดจางกว่าปกติ ทางแก่ล่างจะหักพับทิ้งตัวห้อยลงมารอบๆ ลำต้น เมื่ออาการปรากฎให้เห็นที่ใบ แสดงว่าเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นถูกเชื้อเข้าทำลายอย่างน้อย 50% จำนวนใบยอดที่ยังไม่คลี่จะมากผิดปกติ เกิดการตายของทางใบที่แก่ที่สุด ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นกับฤดูกาล ต้นจะตายภายใน 6-12 เดือน โดยต้นจะหัก หรือล้มลง โรคนี้ทำให้เกิดการเน่าแห้งของเนื้อเยื่อที่ฐานของต้น เมื่อตัดต้นเป็นโรคตามขวางจะเห็นเนื้อเยื้อบริเวณที่เน่า เป็นสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มรูปร่างไม่แน่นอนเกิดสลับกันอยู่ และที่ขอบแผลมีบริเวณสีเหลืองใสกั้นระหว่าง ส่วนที่เป็นโรค และส่วนที่ผิดปกติ รากมีลักษณะกรอบ เนื้อเยื่อภายในแห้งเป็นผง ลักษณะที่สำคัญที่ใช้จำแนกโรคนี้ คือลักษณะของดอกเห็ด ซึ่งเชื้อเห็ดนี้สร้างขึ้นที่บริเวณฐานของลำต้น หรือรากบริเวณใกล้ลำต้น ดอกเห็ดที่พบครั้งแรกมีสีขาวขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายโตขึ้นมีสีน้ำตาลแดง มีขอบสีขาวผิวด้านบนเรียบเป็นมันคล้ายทาด้วยแลคเกอร์ ผิวด้านล่างมีสีขาวขุ่นเต็มไปด้วยรูเล็กๆ ซึ่งเป็นที่สร้างสปอร์สีน้ำตาลเป็นผงเล็กๆ กระจายไปทั่วบริเวณข้างเคียง
การป้องกันกำจัด
- พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เคยปลูกมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมันมาก่อน ดินควรมีการระบายน้ำได้ดี
การเปิดป่าใหม่ ควรทำแปลงให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อเห็ดที่อาจอยู่กับซากพืช และตอไม้ที่เผาทิ้งไม่หมด
- กำจัดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง
- ขุดดินให้เป็นร่อง หรือคูรอบบริเวณต้นปาล์มที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการสัมผัสของราก ระดับผิวดินของต้นที่เป็นโรคกับต้นปกติ โรยทับด้วยสารป้องกันกำจัดโรคได้
- พยายามอย่าเคลื่อนย้ายต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคผ่านไปในแปลงปาล์มน้ำมัน
- เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ใช้สารเคมีไทแรม 75% /WPอัตราการใช้ 130 กรัม / น้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซ็บ 70%WP อัตราการใช้ 150 กรัม น้ำ 20 ลิตร - ผสมสารจับใบราดบริเวณกรวยยอดของ ต้นปาล์มอายุ 1-3 ปี
โรคก้านใบบิด
โรคยอดเน่า
โรคทลายเน่า
อ้างอิง : http://www.rakbankerd.com/