data-ad-format="autorelaxed">
เลี้ยงปลาหมอชุมพร 1
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยและพัฒนา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาพันธุ์ชุมพร 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ส่งเสริม
พบว่าเกษตรกรชื่นชอบการเลี้ยงปลาหมอพันธุ์นี้มาก เนื่องจากโตเร็ว บางรายได้เลี้ยงในรูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเลี้ยงปลาหมอชุมพร 1 จำนวน 10,000 ตัว ในบ่อขนาด 2 งาน เลี้ยงแบบลดต้นทุนโดยให้ปลากินอาหารชนิดเดียวกันกับปลากินพืช และให้อาหารโปรตีน 16% วันละ 2 ครั้ง ให้กินอาหารแค่ 2.5% ของน้ำหนักตัว
ซึ่งหากให้อาหาร 5-7% ปลาหมอที่ได้จะตัวใหญ่ขึ้น แต่เกษตรกรก็พึงพอใจกับการเลี้ยงที่ได้ขนาดตัวปลา คือให้อาหารเพียง 2.5% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากประหยัดต้นทุนได้ดี ขณะที่ปลาได้ขนาดกำลังพอดีกับที่ตลาดต้องการ
โดยจะเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็เริ่มทยอยจับมาจำหน่าย ซึ่งผู้บริโภคนิยมนำไปทำกับข้าว เช่นเผาเกลือ แกงส้ม ส่วนที่ตลาดทั่วไปจะรับซื้อกิโลละ 100 บาท
สำหรับปลาหมอชุมพร 1 หรือ ปลาหมอไทย ชุมพร 1 เป็นปลาหมอไทยที่ได้รวบรวมคัดเลือกจากแหล่งต่าง ๆ มาเข้ารับการปรับปรุงสายพันธุ์ โดยทีมนักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร โดยการวิจัยและคัดสายพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2546-2554 ที่ผ่านมา
จนได้สายพันธุ์ปลาหมอไทยที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง โตเร็วกว่าและให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม เมื่อทดสอบจนประสบความสำเร็จแล้ว จึงเสนอกรมประมงเพื่อขอตั้งชื่อสายพันธุ์ปลาหมอไทย ซึ่งกรมประมงได้อนุมัติให้ใช้ชื่อสายพันธุ์ว่า “ชุมพร 1” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา
ส่วนในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ปลาหมอชุมพร 1 นั้นได้เริ่มดําเนินการโดยการรวบรวมพันธุ์ปลาหมอไทยจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากโรงเพาะฟัก เพื่อหาสายพันธุ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด สำหรับใช้เป็นสายพันธุ์พื้นฐานในการเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือกแบบหมู่
ซึ่งเป็นการคัดเลือกปลาหมอไทยตัวที่ มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด โตเร็วที่สุด ในแต่ละรุ่น มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตลูกพันธุ์ในรุ่นต่อไป ปลาหมอไทย มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ในภาคอีสาน จะเรียกว่า “ปลาสะเด็ด” ภาคเหนือเรียกว่า “ปลาเข็ง” ส่วนภาคใต้ตอนล่าง เรียกเป็นภาษายาวีว่า “อีแกปูยู” ซึ่งในปัจจุบันปลาหมอไทย เริ่มได้รับความสนใจและนิยมเลี้ยงกันมากขึ้น เพราะเลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้น ๆ เพียงแค่ 3-4 เดือน ก็สามารถจับขายได้ สามารถเลี้ยงและเจริญเติบโตในอัตราความหนาแน่นสูงได้ดี ทนทาน ปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงได้ สามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบ ทั้งเลี้ยงในบ่อผ้าใบ บ่อปูน บ่อดิน หรือกระชัง
และมีน้ำหนักตัวมากกว่าปลาหมอ ไทยสายพันธุ์เดิมกว่า 70% จนเป็นที่ต้องการของผู้เลี้ยงจำนวนมากในขณะนี้
source: dailynews.co.th/agriculture/533956