data-ad-format="autorelaxed">
แก้ไอยูยู
ก.เกษตรฯ นับถอยหลังเตรียมต้อนรับคณะอียูถกผลประเมินแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย 1-4 พ.ย.นี้ ขณะประมงเซ็ง บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 รอบ3 เชือดเรือไม่ติด VMS กว่า 1.46 พันลำ บช.น.รับลูกเดินสายลงพื้นที่ชายทะเล 22 จังหวัด ไล่เปรียบเทียบปรับตามขนาดตันกรอสตั้งแต่ 1หมื่น- 1 แสนบาท ประมงโอดโดนกระทำเยี่ยงผู้ร้าย
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางคณะกรรมาธิการประมง รัฐสภายุโรป (อียู) ได้ตอบรับจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายนนี้ โดยในวันแรกช่วงบ่ายทางคณะจะเดินทางไปหารือกับนาย Jesus Miguel SANZ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ณ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป หลังจากนั้นจะเดินทางไปพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงานของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อฟังบรรยายสรุป
ส่วนในวันที่ 2 พฤศจิกายน ช่วงเช้าจะเดินทางเข้าพบหารือกับอธิบดีกรมประมงและอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและคาดการณ์สถานการณ์ด้านการประมง (FMC) ช่วงบ่ายเข้าพบหารือกับผู้แทนกระทรวงแรงงานและผู้แทน ILO Regional Office for Asia and the Pacific ณ กระทรวงแรงงาน และเข้าพบหารือกับผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ เพื่อหารือเรื่องธรรมาภิบาลแรงงานประมง (Stella Maris) และเรื่องคุณภาพชีวิตแรงงานประมง (Labour Rights Promotion Network Foundatio :LPN) ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี
ถัดไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน จะเดินทางไปหารือกับผู้แทนศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) และเยี่ยมชมศูนย์ และช่วงบ่ายจะพบกับผู้แทนภาคเอกชนและสมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นต้น และวันสุดท้ายช่วงเช้าจะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันเป็นอันเสร็จสิ้นในการเก็บข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำไปประมวลและประเมินผลว่าไทยจะคงสถานะใบเหลืองต่อไป หรือจะได้ใบเขียว หรือจะให้ใบแดง คาดจะรู้ผลการประเมินก่อนปีใหม่
ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ เผยว่า ในวันที่ 19-23 กันยายนนี้ พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รองผบช.น.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำประมง ได้ให้พนักงานสอบสวนคดีเรือประมงที่ไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) จำนวน 1,467 ลำ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตามาตรา 44 ลงโทษผู้ประกอบการประมงรอบที่ 3 ใน 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อดำเนินการสั่งปรับตามอัตราที่กำหนด ตามขนาดตันกรอสของเรือ ตั้งแต่ 1 หมื่น- 1 แสนบาท กรณียังไม่ได้ยึดปรับลงโทษตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ส่วนความผิดตาม พ.ร.ก. กรณีติดตั้งระบบ VMS แล้ว แต่ไม่เปิดสัญญาณ สุ่มเสี่ยงจะลักลอบนำเรือออกไปทำประมงผิดกฎหมาย เมื่อถูกปรับแล้วยังถูกส่งเรื่องฟ้องศาลด้วย
“การไม่ติดวีเอ็มเอส โทษปรับไม่สูงมาก ทุกคนก็ตัดความรำคาญไปโดยยอมเสียค่าปรับกัน เพราะเห็นว่าเป็นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับค่าทนาย ค่าเสียเวลา เรื่องนี้ทางผู้ประกอบการได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอให้สมาคมช่วยเหลือใน 2 เรื่องคือ 1.มอบให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายไปหาข้อยุติของปัญหา 2.เร่งดำเนินการจัดประชุมโดยเชิญนักกฎหมายทั้ง 5 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมประมง ศปมผ. อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนนิติศาสตร์ สภาทนายความแห่งประเทศไทย และสมาคม ประชุมร่วมกันเพื่อให้ตกผลึก เพื่อให้คำแนะนำชาวประมงไปตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน ไม่งั้นจะมีสมาคมไว้ทำไม ยิ่งตอนนี้มีระเบียบออกใหม่ทุกเดือน ชาวประมงมีแต่ตายกับตาย และกระทำแบบนี้ราวกับชาวประมงเป็นโจรผู้ร้าย”
source: thansettakij.com/2016/09/21/99098