data-ad-format="autorelaxed">
ปลาทองหัวสิงห์
ปลาทองหัวสิงห์ ได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในสนนราคา ตัวละ 2,000-3,000 บาท ในขณะที่ข้าวราดแกง จานละ 5 บาท ถือได้ว่าในสมัยนั้นใครที่เลี้ยงปลาทองหัวสิงห์จะต้องเป็นผู้มีฐานะมีอันจะกิน ปลาที่นำเข้าจะนำมาจากประเทศจีน หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้ทรงนำเข้าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นมาเลี้ยงเล่นในวังละโว้ ต่อมาได้ทรงแจกจ่ายให้กับผู้สนใจเลี้ยงไปจำนวนมาก ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นจึงแพร่หลายในประเทศไทย ภายหลังจึงมีเอกชนผู้นำเข้าสั่งปลาชนิดนี้เข้ามาโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายอีกทีหนึ่ง
ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lionhead) มีลักษณะเด่นที่ตัวค่อนข้างกลมสั้น หัววุ้นฟูก้อนใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว ส่วนด้อยคือ ตัวมีขนาดเล็ก สันหลังเล็ก ส่วนครีบหางบางและห้อย ส่วนปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น (Ranchu) มีลักษณะเด่นคือ หัววุ้นจะยื่นออกมา นักเลี้ยงเรียกว่า เขี้ยว สันหลังหนาใหญ่ ครีบหางค่อนข้างหนาและกางออก มีจุดด้อยคือ ตัวมีขนาดยาวเกินไป ความจริงแล้วที่มาของปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นนี้นำมาจากประเทศจีนและปรับปรุงพันธุ์จนมีความแตกต่างกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น
เมื่อมาถึงผู้นิยมปลาสวยงามในเมืองไทยเห็นจุดดีจุดด้อยของปลาทองหัวสิงห์ทั้งสองสายพันธุ์ จึงได้ปรับปรุงพันธุ์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้พันธุ์ปลาทองหัวสิงห์ของไทยเอง ซึ่งรวบรวมเอาความสวยงามของปลาทองหัวสิงห์ทั้ง 2 พันธุ์ เข้าด้วยกัน
การพัฒนาของนักเลี้ยงชาวไทย เกิดจากการเลี้ยงในบ้านเราใช้ภาชนะที่ใส่ปลาไม่เหมือนกับต้นฉบับ เพราะจีนและญี่ปุ่นเลี้ยงปลาในอ่างใหญ่หรือบ่อ ไม่สามารถมองเห็นปลาจากด้านข้างได้ สามารถเห็นปลาได้ด้านเดียวคือด้านบน ส่วนเมืองไทยเลี้ยงปลาในตู้กระจกวางไว้ค่อนข้างสูง มองเห็นภาพปลาจากด้านข้าง ทำให้มุมมองเปลี่ยนไป มุมมองด้านข้างเห็นตัวปลาได้มากกว่าการมองจากด้านบนด้านเดียว จึงเกิดการพัฒนาได้ดีกว่าต้นฉบับ
คุณอดุลย์ ดอนปิ่นไทย บ้านหนองสะพาน ตำบลทัพหลวง อำเภอเมืองนครปฐม บอกให้ฟังว่า “ปลาทองหัวสิงห์ของไทยได้ถูกปรับปรุงพันธุ์มานับ 10 ปี โดยการคัดเลือกเอาลูกผสมระหว่างปลาทองหัวสิงห์จีนกับญี่ปุ่นมาผสมกัน แล้วคัดเลือกและผสมกันซ้ำไปมาหลายครั้ง จนได้ปลาทองหัวสิงห์ของไทยเอง ซึ่งต่างชาติยกย่องว่ามีความสวยงามมาก เพราะได้จุดเด่นของพ่อแม่มาทั้งหมด และได้เรียกชื่อว่า Thai Ranchu ให้เกียรติว่าเป็นการพัฒนาพันธุ์จากชาวไทย”
สร้างเรือนหอ เตรียมบ่อผสมพันธุ์
พ่อแม่พันธุ์ปลาจะถูกเลี้ยงรวมในบ่อเดียวกัน ในสภาพที่ไม่หนาแน่นมาก เมื่ออายุ 6 เดือน ก็สามารถนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ อากาศร้อนของบ้านเราได้เปรียบจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอากาศหนาว พ่อแม่พันธุ์ของเขาจะใช้เวลาหลายปีจึงสามารถนำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ วิธีการผสมพันธุ์ของคุณอดุลย์ จะเริ่มทำเมื่อปลาอายุได้ 6 เดือน ขั้นแรกจะเตรียมล้างบ่อให้สะอาด โดยการใช้แปรงขัดล้างออกให้หมด ห้ามใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน หรืออื่นๆ ที่เป็นสารเคมี ไม่เช่นนั้นปลาจะไม่วางไข่ ถ้าเป็นน้ำประปา ควรพักไว้หลายๆ วัน ในบ่อปูนซีเมนต์ ขนาดความกว้างยาว 1.5 คูณ 2 เมตร เติมน้ำให้มีความสูง ขนาด 1 ฟุต ใส่ออกซิเจน 1-2 หัว ใช้เชือกฟางฉีกฝอยหลายเส้นใส่ในน้ำ ใช้หินทับให้เชือกฟางกึ่งลอยกึ่งจม หรือใช้สาหร่ายหางกระรอก เพื่อสำหรับเป็นที่ปลาวางไข่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่สำหรับปลาทองหัวสิงห์เป็นการกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ได้เป็นอย่างดี
1 หญิง 2 ชาย
นำพ่อแม่พันธุ์ปลาที่สมบูรณ์ ในอัตรา ตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว ถือเป็น 1 ชุดปลา บ่อขนาด 1.5 คูณ 2 เมตร ไม่ควรใส่พ่อแม่ปลาเกิน 10 ชุด คือ 30 ตัว เมื่อเตรียมบ่อพร้อมตั้งแต่เช้า เว้นระยะไปช่วงบ่ายค่อยใส่พ่อแม่ปลา ในช่วงเช้ามืดของวันต่อไป ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์ โดยจะเห็นมีการว่ายไล่กันของพ่อแม่ปลา เหมือนหนังอินตระเดียที่พระเอกกับนางเอกจีบกัน หลังจากนั้น ให้จับพ่อแม่ปลาออกทั้งหมด เพราะพ่อแม่ปลาจะกินไข่ตัวเอง ทุกๆ 10 วัน สามารถนำพ่อแม่ปลาชุดเดิมมาผสมได้ใหม่อีก และพ่อแม่พันธุ์ปลาจะใช้ผสมพันธุ์ได้จนถึงอายุ 1 ปี หลังจากนี้ไม่เหมาะทำพ่อแม่พันธุ์ เนื่องจากไข่มีจำนวนน้อย และเชื้อตัวผู้ไม่แข็งแรง
หลังจากปลาไข่แล้ว ประมาณ 3 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ในระยะนี้ ลูกปลายังว่ายน้ำไม่เป็น แต่จะลอยอยู่ผิวน้ำเคลื่อนไปมาตามการไหลของน้ำ ยังไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากมีไข่แดงที่ติดหน้าท้องเป็นอาหารได้ระยะ 2-3 วัน อีก 2 วัน ปลาจะเริ่มว่ายน้ำได้ ก็จะให้ไข่แดงที่ต้มสุกแล้ว ใส่ผ้าขาวบางบีบให้เล็กที่สุดลงในบ่อให้ลูกปลากิน เช้า-เย็น แต่วิธีนี้ต้องหมั่นสังเกตให้ดี อย่าให้ไข่แดงเหลือค้าง เพราะจะทำให้น้ำเสีย สำหรับมือใหม่แนะนำให้ใช้ไรแดง เพราะถึงให้มากน้ำจะไม่เสีย เพราะไรแดงก็จะอยู่ในบ่อเพื่อเป็นอาหารปลาต่อไปได้
จากเมืองสู่ชนบท
เมื่อเลี้ยงลูกปลาจนอายุได้ 1 เดือน ก็จะเตรียมย้ายลูกปลาทั้งหมดไปลงบ่อดิน ของคุณอดุลย์ใช้บ่อดินที่เลี้ยงขนาดกว้างยาว 10 คูณ 20 เมตร แต่ก่อนจะนำมาปล่อย ต้องเตรียมบ่อโดยการดูดน้ำทิ้ง หว่านปูนขาว ตากบ่อไว้ประมาณ 10 วัน จึงเติมน้ำ ใส่ให้สูงประมาณ 1 เมตร กลับมาคัดลูกปลาอายุ 1 เดือน โดยจะต้องคัดลูกปลาที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป เช่น หางเป็นสามเหลี่ยม หางเป็นแง่งปลาทู หางขาด ออกไป ใน 1 บ่อ จะใส่ลูกปลาได้ ประมาณ 2,000 ตัว อาหารในระยะนี้จะเปลี่ยนจากไข่แดงและไรแดงเป็นอาหารลูกกบระยะแรก จะให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ประมาณ 1 กระป๋องนม แต่ให้สังเกตไปเรื่อยๆ ว่า มีอาหารตกค้างหรือไม่ เพราะอาหารกบเป็นอาหารลอยน้ำ ซึ่งจะอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงจะจม ไม่ควรให้มีอาหารตกค้าง เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะฉะนั้นปลาควรจะกินอาหารกบที่หว่านไปแต่ละครั้งให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ถ้าเหลือหลังจากนี้แสดงว่าอาหารมากเกินไป ในการเลี้ยงเมื่อปลาโตขึ้นเรื่อยๆ อาหารที่ให้ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน การให้อาหารมากน้อยขนาดไหนเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกต และในบ่อดินนี้ไม่ควรมีสาหร่ายหรือไม้น้ำใดๆ ทั้งสิ้น เพราะปลาชนิดนี้ไม่ชอบ
จากชนบท เหินฟ้าสู่ทั่วโลก
ปลาทองหัวสิงห์นี้จะถูกเลี้ยงต่ออีก 3 เดือน ในบ่อดิน เมื่อนับรวมบ่อปูนซีเมนต์ 1 เดือน ก็จะใช้เวลา 4 เดือน จึงสามารถจับมาขายได้ ปลาทองหัวสิงห์ในรุ่นบ่อเดียวกันนี้ จะถูกลากขึ้นมาทั้งหมดด้วยอวนตาถี่อย่างทะนุถนอมในช่วงเช้ามืด ไม่เกิน 9 โมงเช้า แล้วจึงถูกลำเลียงโดยใส่ถุงพลาสติกใสมาคัดที่บ้าน คุณอดุลย์ บอกว่า ลูกปลาที่ปล่อยไปบ่อละ 2,000 ตัว จะเหลือไม่เกิน 1,700 ตัว แล้วจึงนำมาคัดปลาที่มีลักษณะสวยงาม จาก 1,700 ตัว ก็จะได้ปลาสวยงาม ประมาณ 800 ตัว โดยเกือบทั้งหมดจะมีบริษัทมารับซื้อกันหลายบริษัททุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 600-800 ตัว โดยบริษัทเกือบทั้งหมดจะส่งปลาทองหัวสิงห์ไปที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเอเย่นต์ที่จะจำหน่ายปลาทองหัวสิงห์ของไทยไปทั่วโลก ส่วนราคาในแต่ละรุ่นจะมีการตกลงราคากันตอนที่คัดเสร็จ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับความสวยสมบูรณ์ของแต่ละรุ่นของปลา ส่วนที่เหลือก็จะขายเป็นปลาเกรดบีให้แก่ตลาดภายในประเทศ
การเลี้ยงปลาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแล การสังเกตพฤติกรรมของปลาเป็นสิ่งที่ควรมีในนิสัยของนักเพาะพันธุ์ ซึ่งกว่าจะได้รายละเอียดที่แท้จริง ก็ต้องผ่านวันเวลามามากพอสมควร เรื่องการทำผลผลิตทางการเกษตรเราก็ไม่เป็นรองใคร แต่เรื่องการตลาดเป็นเรื่องตลกที่สิงคโปร์เพาะปลาไม่ได้สักตัว แต่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ได้
source: technologychaoban.com/pet/article_3116