data-ad-format="autorelaxed">
เลี้ยงปลานิล ร่วมกุ้งขาวแวนาไม
เลี้ยงปลานิลร่วมกุ้งขาวแวนนาไม ภายใต้แนวทางประชารัฐแบบเกษตรแปลงใหญ่
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจราชการ แปลงใหญ่ประชารัฐ การเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไม ณ สหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา จำกัด อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจราชการ แปลงใหญ่ประชารัฐ การเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไม ณ สหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา จำกัด อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
โดยมี นายสุรัตน์ อาจหาญ ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา จำกัด เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี และเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ให้การต้อนรับ
การนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการถึงผลการดำเนินงานในการเพาะเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมภายใต้รูปแบบประชารัฐ ที่มีภาครัฐ เอกชนและขบวนการสหกรณ์ร่วมดำเนินการ จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมการเพาะเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมที่บ่อของ นายสนชัย คำพานนท์ ที่ปลานิลโตขนาดพร้อมจับ ชมการให้อาหารและการสุ่มดูปลาก่อนการจับจำหน่าย และชมบ่อเลี้ยงของ นายจรูญ อาจหาญ ที่ปลานิลและกุ้งขาวแวนนาไมยังเล็กอยู่ ซึ่งทั้ง 2 บ่อนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการทำ การผลิตแบบแปลงใหญ่ภายใต้นโยบายประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ทุกส่วนราชการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ โดยใช้กลไกประชารัฐ และให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการโดยมีส่วนราชการเป็นกลไกทำหน้าที่เชื่อมโยง ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการผลิต รวมทั้งผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ อย่างครบวงจร
สำหรับในจังหวัดปราจีนบุรี นับได้ว่ามีการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในรูปแบบ “ประชารัฐ” คือ บูรณาการร่วมระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่มีการเลี้ยงปลานิลมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับผลผลิตต่ำ ปลามีขนาดไม่สม่ำเสมอ คุณภาพไม่เหมาะกับการจำหน่าย เป็นปลามีชีวิตและผลผลิตต่อไร่ต่ำ ประมาณ 1,000 กก.ต่อไร่เท่านั้น และยังมีปัญหาเรื่องของกลิ่นโคลนในเนื้อปลาอีกด้วย
และภายหลังจากได้ดำเนินการภายใต้โครงการประชารัฐรวมการผลิตเป็นแปลงใหญ่ ยังผลให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมในบ่อดิน โดยเลี้ยงแบบ ปล่อยลูกปลาขนาด 15–20 ตัวต่อกก. (50–60 กรัมต่อตัว) อัตราไร่ละ 2,000– 2,500 ตัวเลี้ยง ประมาณ 6–7 เดือน มีอัตราการรอดจากเดิม ร้อยละ 40–50 เพิ่มเป็นร้อยละ 90 ระยะเวลาการเลี้ยงลดลง จากเดิม 10 เดือน เป็น 6 เดือน (คิดเป็น 2 รอบต่อปี) มีผลผลิตปลานิลเพิ่มขึ้นจากเดิมผลิตได้ 1 รอบต่อปี เฉลี่ย 1,000 กก.ต่อไร่ต่อปี เพิ่มรอบการผลิตได้ 2 รอบต่อปี ผลผลิตเพิ่มเป็น 4,260 กก.ต่อไร่ต่อปี (คิดเป็น 3.26 เท่า) ยังผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายปลานิลเพิ่มมากขึ้นและยังมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงกุ้งขาว ที่ปล่อยไร่ละ 30,000 ตัวต่อไร่ อีกด้วย
สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้รูปแบบประชารัฐนั้น มีสหกรณ์ที่ร่วมโครงการทั้งสิ้น 12 สหกรณ์ ได้แก่ 1. สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด จังหวัดจันทบุรี 2. สหกรณ์กุ้งตราด จำกัด จังหวัดตราด 3. สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน จังหวัดตราด 4. สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช 5. สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งนครปฐม จำกัด จังหวัดนครปฐม 6. สหกรณ์การเกษตรบ้านสร้าง จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี 7. สหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี 8. สหกรณ์การเกษตรเมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา 9. สหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตรัง จำกัด จังหวัดตรัง 10. สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด จังหวัดจันทบุรี 11. สหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี จำกัด จังหวัดชลบุรี และ 12. สหกรณ์ประมงพาน จำกัด จังหวัดเชียงราย
ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและเกิดความมั่นคงต่อวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของสหกรณ์ต่อไป
Source: http://www.dailynews.co.th/agriculture/516093