data-ad-format="autorelaxed">
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำใช้เอง
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของเหลวซึ่งได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จาก พืช หรือสัตว์ที่มีลักษณะสด อวบน้ำหรือมีความชื้นสูง โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ ทั้งในสภาพที่ไม่มีออกซิเจนทำให้ได้ฮอร์โมน หรือสารเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น ออกซิเจน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน รวมทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซิติก กรดอะมิโน และกรดฮิวมิก
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำสามารถผลิตได้จากวัสดุหลากหลาย เช่น จากผักและผลไม้ในจำนวนน้ำหมัก 50 ลิตร จะใช้เวลาการหมัก 7 วัน ส่วนผสมประกอบด้วย ผักหรือผลไม้ 40 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร สารเร่ง พด.2 (1 ซอง) 25 กรัม ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากปลาหรือหอยเชอรี่ ผลิตจำนวน 50 ลิตร ใช้เวลาในการหมัก 15-20 วัน ใช้วัสดุเป็นปลาหรือหอยเชอรี่ประมาณ 30 กิโลกรัม ผลไม้ 10 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร สารเร่ง พด.2 น้ำหนัก 25 กรัม
หั่นหรือสับวัสดุพืชหรือสัตว์ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับกากน้ำตาลในถังหมัก ขนาด 50 ลิตร นำสารเร่ง พด. จำนวน 1 ซอง ผสมในน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที เทสารละลายสารเร่ง พด.2 ในถังหมัก คนส่วนผสมให้เข้ากัน ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม ในระหว่างการหมัก คนหรือกวน 1-2 ครั้งต่อวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดียิ่งขึ้น
อีกวิธีก็คือการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยวิธีการต่อเชื้อ เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยไม่ใช้สารเร่ง พด.2 ทำได้โดยนำปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่มีอายุการหมัก 5 วัน ซึ่งจะสังเกตเห็นฝ้าสีขาวที่มีผิวหน้าวัสดุหมักโดยใช้จำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่ง พด. 2 จำนวน 1 ซอง จะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำได้ 50 ลิตร
การพิจารณาปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่หมักสมบูรณ์แล้ว ให้ดูการเจริญของจุลินทรีย์ซึ่งจะน้อยลง ดูได้จากคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลง ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง การวิเคราะห์ความเป็นกรดเป็นด่าง (PH) อยู่ระหว่าง 3-4
คุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์น้ำ จะมีฮอร์โมนหรือสารเสริมการเจริญเติบโตหลายชนิด เช่น ออกซิเจน จิบเบอเรลลิน ไซโตไคนิน มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซิติก กรดอะมิโน และกรดฮิวมิก มีวิตามินบี เช่น วิตามินบี 2 และไนอะซีน มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 3-4
การใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์น้ำในพื้นที่การเกษตร สำหรับการปลูกข้าวใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อเมล็ดข้าว 20 กิโลกรัม แช่เมล็ดข้าว 12 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นพักไว้ 1 วัน จึงนำลงปลูก ขณะเดียวกันให้ฉีดพ่นหรือรดลงดินระหว่างเตรียมดินหรือก่อนไถกลบตอซัง จากนั้นฉีดพ่นหรือรดลงดินอีกครั้งเมื่อข้าวอายุ 30, 50 และ 60 วัน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 5 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ต่อครั้ง โดยเจือจางด้วยน้ำ 100 ลิตร
ในพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ช่วงการเจริญ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 400 มิลลิลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ต่อครั้ง โดยเจือจางด้วยน้ำ 200 ลิตร ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก ๆ 10 วัน ที่สำคัญให้แช่ท่อนพันธุ์ 12 ชั่วโมง ก่อนนำลงปลูกในแปลง
ส่วนพืชผักและไม้ดอกใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 100 มิลลิลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ต่อครั้ง โดยเจือจางด้วยน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดิน ทุก ๆ 10 วัน และไม้ผลให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 600 มิลลิลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ต่อครั้ง โดยเจือจางด้วยน้ำ 300 ลิตรฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก ๆ 1 เดือนช่วงที่ต้นพืชกำลังเจริญเติบโตก่อนออกดอก และช่วงติดดอก ดำเนินการเช่นนี้ผลผลิตก็จะออกมาได้ดีตามที่ต้องการ
ที่สำคัญในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำกับต้นพืชดังที่กล่าวมาจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้มาก ซึ่งงบประมาณจำนวนนั้นก็คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในการผลิตนั่นเอง
เกษตรกรที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือศึกษาดูงานสามารถไปใช้บริการได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th