data-ad-format="autorelaxed">
เตือน!! เกษตรกรอย่าใส่สารปลอมปนในน้ำยาง ในภาวะราคายางธรรมชาติที่อยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันและน้ำยางสด นอกจากเป็นแรงดึงให้เกษตรกรเปิดกรีดยางเร็วกว่ากำหนดแล้ว ยังทำให้มีการแอบเติมสิ่งปลอมปนลงไปในน้ำยาง เพื่อหวังที่จะเพิ่มน้ำหนักและกอบโกยกำไรจากการขายยางเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นปัญหาที่น่าห่วงซึ่งเกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่....ผู้ที่กระทำในลักษณะดังกล่าว ควรหยุดและเลิกอย่างเด็ดขาด เพราะมีแต่เสียกับเสีย ภาพลักษณ์สินค้ายางพาราไทยอยู่ในมือคุณ...ขอเตือน
นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยา ศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบางรายจงใจใส่สิ่งปลอมปนลงในน้ำยางเพื่อหวังที่จะเพิ่มน้ำหนักยางและคิดว่าจะขายได้ราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเขตปลูกยางใหม่ทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสิ่งปลอมปนที่เกษตรกรแอบเติมลงไปในน้ำยางมีหลายชนิด ส่วนใหญ่มีสีขาวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำยาง ได้แก่ แป้ง ปูนขาว ปูนซีเมนต์ ยิปซัม เกษตรกรบางรายมีการเติมสารที่สกัดจากธรรมชาติลงไปในน้ำยางด้วย เช่น น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้ เพื่อทดแทนการใช้กรดฟอร์มิกที่ช่วยในการจับตัว นอกจากนี้ยังมีการใส่ขี้เปลือก ทราย หิน เศษยางใช้แล้ว หรือยางผสมสารเคมีที่เรียกยางตาย ยัดใส่ในยางก้อน และยังพบมีการเติมน้ำ หรือแม้แต่กระทั่งเกลือ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมส่งผลกระทบต่อสมบัติทางกายภาพของยางทั้งสิ้น
เกษตรกรจะเติมแป้ง ปูนขาว ปูนซี เมนต์ น้ำ ยิปซัม สารชีวภาพ และสารสกัดจากธรรมชาติลงในน้ำยางที่จะผลิตเป็นยางแผ่นดิบ ยางแผ่นที่แห้งจะเห็นได้ชัดเจนมาก สังเกตจากสีของแผ่นยางจะไม่สม่ำเสมอ แผ่นยางมีจุดด่างขาว หรือสีขุ่นดำคล้ำ ทำให้ได้ยางดิบที่ไม่มีคุณภาพ เนื้อยางแข็งกระด้าง ยืดหยุ่นไม่ดี และเมื่อยืดแผ่น ยางจะขาดง่าย ส่วนการผลิตยางก้อนถ้วยจะมีการเติมเกลือที่อยู่ในรูปแคลเซียมคลอไรด์ น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ สารชีวภาพที่มีมากมายหลายยี่ห้อในขณะนี้ หากมองด้วยตาเปล่าแทบไม่รู้เลยว่ามีการเติมสิ่งปลอมปนลงในน้ำยาง จะทราบได้ก็ต่อเมื่อนำแปรรูปเป็นยางแท่ง
การเติมสิ่งปลอมปนลงในน้ำยางนี้ ส่งผลเสียต่อการนำยางแผ่นดิบไปผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน และยางก้อนถ้วยที่จะนำไปผลิตเป็นยางแท่ง ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ยางที่จะนำไปใช้ทั้งความยืดหยุ่น ความทนทานต่อการสึกหรอ ความทนต่อแรงดึง ความหนืดและการสะสมความร้อน เป็นต้น ยางดิบที่มีสิ่งปลอมปนหรือมีสิ่งสกปรกปนอยู่จะถูกกดราคา และผู้ซื้ออาจไม่รับซื้อผลผลิต อนาคตอาจกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์สินค้ายางพาราไทย ทำให้ประเทศคู่ค้าขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพ ซึ่งผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนก็ คือ เกษตรกรนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องให้ความสำคัญในการผลิตยางแผ่นดิบหรือยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพดี เบื้องต้นเกษตรกรต้องผลิตน้ำยางสด สะอาด ปราศจากสิ่งปลอมปนต่าง ๆ สำหรับสวนยางขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะนำน้ำยางเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ควรใช้ สารโซเดียมซัลไฟต์ ช่วยในการรักษาสภาพน้ำยาง จากนั้นต้องพิถีพิถันในการกรองน้ำยางด้วยตะแกรงกรองเบอร์ 40 หรือ 60 แล้วเร่งผลิตเป็นยางแผ่นดิบทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ทั้งนี้ น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องเป็นน้ำสะอาด โดยเจือจางกับน้ำยางในอัตราที่เหมาะสม ประมาณ 15-18% ของปริมาณเนื้อยางแห้ง พร้อมเติมกรดเพื่อช่วยให้ยางจับตัวด้วย หลังจากนำยางเข้าเครื่องรีดแล้ว ก่อนนำแผ่นยางไปผึ่งต้องล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง การผึ่งยางต้องผึ่งในที่ร่ม ประมาณ 7-10 วัน ไม่ควรผึ่งแดดเพราะจะทำให้แผ่นยางมีสีคล้ำ และมีผลกระทบต่อคุณภาพยาง
อ้างอิง : http://www.dailynews.co.th