data-ad-format="autorelaxed">
อ้อยกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมน้ำตาล-
หากเอ่ยถึงพืชเกษตรที่สามารถนำส่วนต่างๆของต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย หลายๆคนคงนึกไปถึงพืชเกษตรอย่างกล้วย ซึ่งคงมีไม่กี่คนที่นึกถึง “อ้อย” พืชไร่ที่ถูกใช้ผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อสร้างความหวานให้แก่อาหารของคนเรามานมนาน ในอดีตการสร้างรายได้จากการแปรรูปอ้อยนั้น ส่วนใหญ่มักมุ่งผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว กากอ้อยอันเป็นของเสียหลังการแปรรูปจึงเหลือทิ้งให้กลายเป็นขยะในชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้
สำหรับบริษัทมิตรผล ยักษ์ใหญ่ของวงการธุรกิจน้ำตาล “อ้อย”ไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงวัตถุดิบเพื่อผลิตน้ำตาลเท่านั้น แต่พืชแห่งความหวานชนิดนี้ถูกนำไปผลิตเพื่อประโยชน์ด้านอื่นอีกในหลายรูปแบบซึ่งเราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน แม้แต่ของเสียจากการแปรรูปอ้อยยังสามารถนำมาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่บริษัทอีกด้วย
นับตั้งแต่อ้อยถูกเก็บเกี่ยวจวบจนเข้าสู่กระบวนการหีบอ้อยเพื่อให้ได้น้ำอ้อยมาผลิตน้ำตาลนั้น กากอ้อยอันเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต หากจำนวนไม่มากนักผู้ประกอบการก็คงหาวิธีกำจัดได้ไม่ยาก แต่ในเมื่อกากอ้อยมาจากโรงงานขนาดใหญ่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาวิธีจัดการกับของเสียจำนวนมหาศาลเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศเป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง
ด้วยเหตุผลที่ต้องหาวิธีจัดการกับของเสีย กากอ้อยหรือเรียกอีกอย่างว่าชานอ้อย จากที่เคยเป็นของเสียก็กลับกลายมาเป็นวัตถุดิบใหม่ในการผลิต “พาร์ติเคิลบอร์ด” (Particle Board) วัสดุอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์อันมีคุณสมบัติเป็นไม้อัดเทียม มีน้ำหนักเบาและราคาถูก ที่สำคัญสามารถนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นตู้ โต๊ะ เตียง ฉากหรือผนังกั้นห้อง ซึ่งวัสดุพาร์ติเคิลบอร์ดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกับไม้เลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น กากอ้อยบางส่วนก็ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในแง่การเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่กากอ้อยอีกส่วนหนึ่งซึ่งหากมีการจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการทำเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลได้อีกด้วย สำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้าชีวมวลนั้น ก็ทำได้โดยใช้ระบบเผาไม้โดยตรง( Direct-Fired) โดยนำกากอ้อยใบอ้อยมาเผาไหม้โดยตรงในหม้อไอน้ำ (Boiler) และถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นให้แก่น้ำในหม้อไอน้ำจนกลายเป็นไอน้ำที่ร้อนจัดและมีความดันสูง ซึ่งไอน้ำนี้จะถูกนำไปปั่นกังหันที่ต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ได้กระแสไฟฟ้าออกมา
นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลก็สามารถนำประโยชน์จากไอน้ำไปใช้ในขั้นตอนการผลิตของโรงงานด้วย ไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ก็ส่งไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าร่วมกันนี้เรียกว่าระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration) ซึ่งถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงสูงทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น อ้อยยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล โดยใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อย่างที่เรารู้ๆกันดีว่ารัฐบาลกำลังพยายามดันให้ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนเพราะราคาถูกและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ลดการเผชิญหน้ากับปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างทุกวันนี้ดังนั้นหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสนใจในการพัฒนาวิจัยปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เพียงให้พลังงานแก่ร่างกายในรูปของน้ำตาล หรือสร้างแหล่งพลังงานจากการผลิตไฟฟ้าชีวภาพ พืชอ้อยยังมีบทบาทสำคัญเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล พลังงานทดแทนในอนาคตอีกด้วย ในปัจจุบันอ้อยจึงไม่ใช่พืชแห่งความหวานเท่านั้น ซึ่งก็คงไม่ผิดนักหากจะเรียกอ้อยว่า “พืชแห่งพลังงาน”
อ้างอิง : www.bangsaigo.th/