data-ad-format="autorelaxed">
พริก ขึ้นชื่อว่า “พริก” ไม่มีใครไม่รู้จัก ไม่มีบ้านไหนไม่เคยเรียกหา... พริกทุกเม็ดมีรสเผ็ด จะเผ็ดมากเผ็ดน้อย ขึ้นอยู่กับสาร “แคปไซซิน” ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีไม่เท่ากัน พริกที่กำลังดังที่แพร่ขณะนี้เป็นพริกสายพันธุ์ “หยกสยาม” และ “หยกสวรรค์” ทั้งสองชนิดสวยเหมือนกันด้านรูปลักษณ์ แต่ชนิดแรกเผ็ดกว่า...ส่วนชนิดหลังคนนิยมนำมาทำ “น้ำพริกหนุ่ม” เพราะไม่ค่อยเผ็ด เนื้อหนาตำน้ำพริกแล้วได้เนื้อเยอะ ที่ จังหวัดแพร่ มีการปลูกพริกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด แต่ คุณอุดม เขียวสลับ เกษตรกรที่กำลังจะเป็นผู้นำพริกปลอดภัยที่อำเภอหนองม่วงไข่ เปิดเผยว่าบรรพบุรุษก็เคยปลูกพริกไว้รับประทานเองมาก่อน ตนเองก็เคยลองปลูกเช่นกันแต่ไม่ค่อยสำเร็จ เพราะพริกเอาใจยาก โรคเยอะ พอต้นขึ้นมักเหี่ยวตาย หรือพอจะเก็บเกี่ยวผลได้ก็มีอันเสียหายเพราะเกิด “ผลด่าง” คนเมืองแพร่จึงไม่ค่อยนิยมปลูก
อาจารย์วีระ ภาคอุทัย จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัย “การปลูกพริกปลอดภัย” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำวิจัยที่ชัยภูมิเป็นเวลา 4 ปี จนเขียนตำราเรื่องพริกได้หลายเล่ม และถอดรหัสการปลูกพริกปลอดภัยไว้ด้วย ซึ่งอาจารย์วีระกล่าวว่า มีโอกาสมาจังหวัดแพร่และได้เห็นสภาพพื้นที่ดินซึ่งได้เปรียบสามารถปลูกพริกได้ดี จึงเลือกจังหวัดแพร่เป็นที่ทดสอบตำรา โดยเริ่มทำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้สภาพพื้นที่ดินเป็น “ชายตลิ่ง” น้ำท่วมบ่อยแต่ไม่ท่วมมาก ท่วมแล้วก็ลด จึงได้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มมาด้วยทุกครั้ง เมื่อตรวจสอบดินโดยเฉลี่ยพบว่ามีสารอินทรีย์ในดินมาก สามารถปลูกพริกได้ดี โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยมากมาย
จังหวัดแพร่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดมานานแล้ว อาจารย์วีระเห็นเป็นจังหวะเหมาะในการโน้มน้าวให้เกษตรกรเกิดทางเลือกในการทำเกษตรที่ดีกว่าการปลูกข้าวโพด โดย คุณงามตา เขียวสลับ และเกษตรกรที่หนองม่วงไข่อีกหลายครอบครัวยืนยันว่า เคยไปอบรมกับอาจารย์วีระจึงเห็นโอกาสเอาภูมิปัญญาเดิมผสมผสานความรู้ใหม่ นำพื้นที่ดินของตนเองมาทดลองปลูกพริก โดยใช้ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมา พลิกผืนดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดครั้งหลังสุดเมื่อต้นปีมาปลูกพริกแทน และได้รับคำยืนยันว่าทุก ๆ 1 ไร่ที่ปลูกพริก สามารถเก็บพริกได้กว่า 2 แสนบาท
งามตา กล่าวว่า ปีนี้พริกราคาดี ประมาณกิโลกรัมละ 40 บาท โดยที่เก็บขายตอนนี้เป็นรุ่น “พริกเขียว” หากเก็บไม่ทันพริกเริ่มแก่ มีสีแดงขึ้นประปรายก็ขายเป็น “พริกก้ามปู” ซึ่งจะมีราคาต่อกิโลกรัมสูงขึ้นไปอีกประมาณ 30 บาท ช่วงสุดท้ายก็ขายเป็น “พริกแดง” ส่วนที่สวยไม่มีที่ติเป็นพริกเกรดหนึ่งจะได้ราคาแพง พริกที่เหลือจะถูกเก็บหมดโดยเหมาขายราคาก็กลับมาเป็นถูกที่สุด
อุดม กล่าวเสริมว่า ได้ทดลองปลูกพืชมาหลายชนิด เช่น ถั่วเหลืองราคาดีแต่หญ้าขึ้นเร็ว ยาฆ่าหญ้าก็ทำร้ายต้นถั่วเหลืองด้วยเหมือนกัน แต่ปลูกพริกใช้วิธีปูพลาสติก เจาะรู ปลูกตามทฤษฎีอาจารย์วีระ 1 เมตรปลูก 2 แถวได้จำนวนต้นน้อยกว่าปลูก 3 แถว ได้ผลผลิตพริกมากเท่ากัน แต่ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าแรงน้อยกว่า กำไรจึงมากกว่า และเหนื่อยน้อยกว่า ทั้งนี้การใช้ปุ๋ยด้วยความรู้จะมีการทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เครื่องทดสอบ (test kit) เสียบลงไปในดิน ก็จะทราบทันทีว่าต้องเพิ่มปุ๋ยหรือไม่ เป็นการให้ตามความจำเป็น ส่วนเรื่องโรคพริกบางโรค เช่น ผลด่าง ตอนนี้ทราบแล้วว่าเป็นโรคที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร พอเริ่มเป็น เพียงใส่ปุ๋ยพริกก็แข็งแรง มีภูมิต้านทานได้เอง ความปลอดภัยก็ย้อนกลับไปที่ผู้บริโภค
“พริกคุณภาพดี ทั้งสวยและปลอดภัย มีปริมาณมากพอ ตลาดก็เข้ามาหาเอง ที่อำเภอหนองม่วงไข่แต่ละครอบ ครัวปลูกพริกกันคนละ 4 ไร่ ทั้งหมู่บ้าน ต่อวันก็ได้ปริมาณหลายตัน คุ้มค่าพอให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ ความสำเร็จจึงเกิดจากปัจจัยหลายประการรวมกัน คุณภาพดินเมื่อเริ่มต้น ความพอประมาณของน้ำ การจัดการบนฐานความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรคและการตลาด มั่นใจว่าเกษตรกรรุ่นลูกหลานจะทำได้ดีขึ้น ข้อสำคัญคือ บทบาทของพ่อแม่ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้จนถึงจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค” เกษตรกรอำเภอหนองม่วงไข่กล่าว
อุดม กล่าวว่า ผมเลือกปลูกพริกปีละครั้งเดียว ใช้ระยะเวลา 6-7 เดือน หลังเก็บพริกก็จะปลูกข้าวโพดทิ้งไว้ เพื่อเป็นการพักดิน พักโรค และพักคน เรียนรู้เพื่อรอจังหวะปลูกพริกรอบใหม่เมื่อทุกอย่างเป็นใจ ตอกย้ำประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน…
สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป หากสนใจคู่มือและรายละเอียดติดต่อได้ที่ [email protected] ฝ่ายเกษตร สกว.
อ้างอิง : http://dailynews.dev.drupal4u.com