วิธีฟื้นฟูไม้ผลและปลูกไม้ผลหลังน้ำท่วม
หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำ..
data-ad-format="autorelaxed">
วิธีฟื้นฟูไม้ผลและปลูกไม้ผลหลังน้ำท่วม เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักทำให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงในหลายพื้นที่ เริ่มต้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงภาคใต้ ทำให้ที่อยู่อาศัยรวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัดของประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่เชื่อว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ยังต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเรีอนที่ได้รับความเสียหายรวมทั้งสภาพจิตรใจด้วยเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุการณ์มีหลายหน่วยงานร่วมกันให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ฯลฯ รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อบรรเทาความทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย นั่นแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนคนไทย ในยามที่บ้านเมืองเราเกิดเหตุการณ์ที่ต้องการความร่วมมือ พวกเราประชาชนคนไทยก็แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นผ่านไปได้ด้วยดี การเกิดอุทกภัยในครั้งนี้นอกจากที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินของประชาชนจะได้รับความเสียหายแล้ว ยังทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งพื้นที่ปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ ยางพารา ฯลฯ ผลิใบฯ ฉบับนี้จึงมีคำแนะนำในการฟื้นฟูไม้ผลและการปลูกไม้ผลหลังประสบอุทกภัยเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในพื้นที่ที่กำลังได้รับความเสียหายได้อย่างถูกต้อง การฟื้นฟูไม้ผล หลังประสบอุทกภัย เกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาไม้ผลให้เกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วย
ขั้นตอนการปฏิบัติมีดังนี้ คือ
1. หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม และอาจตายได้
2. ในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ควรหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด
3. ในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะพาเอาดินหรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นหลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้วควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช นอกจากนี้ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ทำการปลิดผลออกบ้าง เพื่อช่วยต้นพืชอีกทางหนึ่ง
4. เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21- 21 และ 16-21-27 ละลายน้ำพ่นให้แก่พืชก็ได้ นอกจากนี้สามารถเตรียมปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของ น้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม (6 ขีด) ฮิวมิคแอซิด 20 ซีซี (2.5 ช้อนแกง) ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 จำนวน 20 กรัม (1.5 ช้อนแกง) โดยผสมสารดังกล่าวในน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) ควรเติมสารจับใบลงไปเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตามความจำเป็น ควรพ่นสัก 2 - 3 ครั้ง
5. ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ภายหลังน้ำท่วม มักจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า เพราะรากต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลา นานๆ ทำให้ขาดออกซิเจน (อากาศ) ดังนั้นเมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดิน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น
6. ในพืชที่ที่มีปัญหาของโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา หลังจากน้ำลดแล้วหากพืชยังมีชีวิตอยู่ ให้ราดโคนต้นพืช หรือทาด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตาแลคซิล หรือ ฟอสเอทิล-อลูมินั่ม (อาลิเอท) (กรณีเกิดแผลที่โคนต้นพืชจะถากเนื้อเยื่อพืชที่เสียออกแล้วทาด้วยสารเคมี) โดยสารเคมีดังกล่าวจะใช้กับอาการรากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราพิเที่ยม (Pythium spp.) หรือไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) สำหรับโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อราฟูซาเรี่ยม (Fusarium spp.) ไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) หรือสเคลอโรเที่ยม (Sclerotium spp.) ให้ราดโคนต้นด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี หรือ เทอร์ราคลอร์ นอกจากนี้อาจมีการปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเพียงเล็กน้อย
การปลูกพืชหลังประสบอุทกภัย
ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เมื่อน้ำลดแล้ว และต้องการจะปลูกพืช อาจทำได้ 2 วิธีคือ ปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา และกระทำหลังจากที่ดินเริ่มแห้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว และลดการรบกวนดิน และปลูกแบบ ไม่ไถพรวน วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่ การเลือกปลูกไม้ผล ควรพิจารณาความต้องการของตลาดด้วย และควรปลูกไม้ผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตเร็ว ควบคู่กับไม้ผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานแต่มีศักยภาพทางการตลาดสูง เป็นการวางแผนในระยะยาว ก่อนปลูกพืช หากดินแห้งพอที่จะไถได้ ควรไถดินตากแดดสัก 2-3 วันก่อน (ควรเลือกใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา) หากไถไม่ได้ ก็ใช้วิธีขุดหลุมปลูกให้ได้ขนาดพอเหมาะตามชนิดของพืช แล้วผสมปุ๋ยคอก และปูนขาวเล็กน้อยรองก้นหลุมเพื่อปรับปรุงดิน หากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่าและโคนเน่าควรราดหรือโรยก้นหลุมด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในดิน เช่น เมตาแลคซิล ฟอสเอทิล- อลูมินั่ม หรือ พีซีเอ็นบี เทอร์ราคลอร์ แล้วแต่ชนิดของเชื้อสาเหตุ หรือจะใช้วิธีจุ่มรากของกล้าพืชในสารเคมีดังกล่าวก่อนจะปลูกก็ได้ หลังปลูกพืช ควรมีการใส่ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยคอกเป็นระยะๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชมีการปฏิบัติดูแลรักษาต้นพืช และการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ตามคำแนะนำสำหรับพืชแต่ละชนิด หากเกษตรกรต้องการทราบคำแนะนำว่าในพื้นที่ของตนเองมีไม้ผลชนิดใดที่เหมาะกับพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้อย่างเต็มที่ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 - 2579-0583 หรือ 0-2940-5484 ได้ในวัน เวลา ราชการ
อ้างอิง : www.kasetloongkim.com
อ่านเรื่องนี้แล้ว : 11282 คน
£
ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:
เลือกหมวด :
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด,
สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,