data-ad-format="autorelaxed">
กองทุนอ้อยฯชงธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ออกไปอีก 2 เดือน จากแผนเดิมจะชำระหมดธ.ค. 54 เหตุคาดการณ์ปริมาณอ้อยปี 2553/2554 ผิดพลาดที่ตั้งเป้าไว้แค่ 66 ล้านตันอ้อยแต่กลับได้ปริมาณอ้อย 95.35 ล้านตันอ้อย ส่งผลยอดหนี้เพิ่มตามปริมาณอ้อย ขณะที่ผู้ส่งออกมึน พาณิชย์ยื่นหนังสือยกเลิกคำสั่งที่ให้กระทรวงอุตฯ เป็นผู้ออกใบอนุญาตส่งออกน้ำตาลเองให้มีผล1 พ.ย.นี้ อ้างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อขอขยายเวลาชำระหนี้จำนวน 4,499 ล้านบาท ออกไปอีก 2 เดือนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 จากเดิมที่มีกำหนดชำระหนี้ให้หมดภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ โดยการนำเงิน 5 บาท/กิโลกรัม มาจากรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศไปชำระ
ส่วนสาเหตุที่แผนการชำระหนี้ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2553/2554 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 66 ล้านตันอ้อย แต่กลับได้ปริมาณอ้อยทั้งสิ้น 95.35 ล้านตันอ้อย จึงทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อย ขณะที่ในด้านการจำหน่ายน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ(โควต้าก.) ก็มีปริมาณลดลงเนื่องจากฝนตกมากขายไม่ออก
ทั้งนี้เงินจำนวน 4,499 ล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่เป็นภาระผูกพันมาจากก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบันที่มีการกู้เงินเพื่อมาเพิ่มค่าอ้อย 105 บาท/ตัน ซึ่งเรื่องนี้ทางธ.ก.ส.กำลังเสนอเรื่องพิจารณาในบอร์ดธ.ก.ส. หลังจากนั้นจึงเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้ทั้งสิ้น 8,399 ล้านบาทแบ่งเป็นหนี้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นหนี้สำหรับชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2549/2550 ที่ล่าสุดเหลือยอดหนี้อยู่ที่ 3,900 ล้านบาท และมีแผนชำระหนี้ระยะยาว 12 ปี ขณะนี้เหลือระยะเวลาชำระหนี้อีก 9 ปี ส่วนที่สองเป็นเงินกู้สำหรับเพิ่มค่าอ้อย 105 บาท/ตัน ที่ผูกพันมาจนถึงปัจจุบันเหลือหนี้อยู่จำนวน 4,499 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจาก ธ.ก.ส. เพื่อขอยืดเวลาชำระหนี้อีก 2 เดือน
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกน้ำตาลกล่าวว่าเมื่อเร็วๆนี้กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือถึงนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงการยกเลิกคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่61/2547 ที่ก่อนหน้านั้นกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายปฏิบัติราชการแทนกระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณาอนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกไปนอกราชอาณาจักร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 และดึงเรื่องการพิจารณาการขออนุญาตส่งออกน้ำตาลทรายไปนอกราชอาณาจักรตามแบบ อ 4 หรือการพิจารณาใบอนุญาตส่งออกกลับไปดูเอง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การส่งออกน้ำตาลทรายออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป
"เมื่อกระทรวงพาณิชย์ดึงงานส่วนนี้กลับไปดำเนินการเอง ก็วิตกว่าจะเกิดความล่าช้าในการส่งออก เนื่องจากการออก อ4 ถ้าดำเนินการตามเดิมในกระทรวงอุตสาหกรรมจะสะดวกกว่า เพราะวางระบบออนไลน์เชื่อมถึงกรมศุลกากร เกรงว่าจะทำให้การขอใบอนุญาตส่งออกล่าช้าเพราะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทส่งออกน้ำตาลจะต้องไปขออนุญาตส่งออกน้ำตาลทรายไปนอกราชอาณาจักรตามแบบอ4 จากกรมการค้าต่างประเทศ โดยนำหนังสือกน.10 ที่ออกโดยศูนย์บริหารการผลิตฯ แนบประกอบการขออนุญาตด้วย"
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าปี 2553/2554 มีรายได้จากการขายน้ำตาลจำนวน 9.6 ล้านตันน้ำตาล แบ่งเป็นน้ำตาลบริโภคในประเทศ(โควตาก.)จำนวน 2.5 ล้านตัน หรือ 25 ล้านกระสอบ และเป็นโควตาส่งออก(โควตาข.และโควตาค.)จำนวน 7.1 ล้านตัน รวมเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมน้ำตาล 180,000 ล้านบาท(ยังไม่รวมค่าอ้อย) และขณะนี้มีการขายน้ำตาลล่วงหน้าฤดูการผลิตปี2554/2555ไปแล้วเกือบ 90% อย่างไรก็ตามฤดูการผลิตปี 2553/2554 ถ้ามองในแง่ราคาและการเติบโตถือว่าเป็นปีที่ขยายตัวดี เริ่มจากที่ผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณสูงเกินเป้าที่ตั้งไว้โดยมีมากถึง 96 ล้านตันอ้อย และผลิตเป็นน้ำตาลได้ 9.6 ล้านตันน้ำตาล ถือว่าปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่สูงเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่ราคาตลาดโลกยังอยู่ในภาวะขาขึ้น
"ตอนนี้กลุ่มน้ำตาลมีปัญหาตรงที่มีปริมาณอ้อยและน้ำตาลมากขึ้นทำให้คุณภาพอ้อยออกมาไม่ดี ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ดี ผลผลิตออกมาค่อนข้างต่ำ ทำให้เปอร์เซ็นต์การผลิตแย่ มีสิ่งเจือปนมาก บวกกับมีปัญหาการขนส่งที่ล่าช้ากว่าเดิม รวมไปถึงคลังสินค้าสำหรับเก็บน้ำตาลก็มีไม่เพียงพอ โดยรวมมองว่าพอมีปริมาณน้ำตาลมากก็ทำให้การจัดการลำบากขึ้น เพราะส่งมอบให้ลูกค้าล่าช้า ทำให้ต้นทุนเรื่องการขนส่งแพงขึ้น มีการเรียกค่าขนส่งทางเรือ(เรือโป๊ะ)สูงขึ้น"
อ้างอิง: จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,671 18-21 กันยายน พ.ศ. 2554