data-ad-format="autorelaxed">
ธ.ก.ส.เทงบพันล้านเช่าเหมาระบบงานบัตรเครดิตมาให้บริการบัตรเครดิตชาวนา คาดเริ่มได้ภายใน พ.ย.นี้ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติให้เช่าเหมาบริการระบบงานบัตรเครดิตเพื่อนำมาให้บริการบัตรเครดิตเกษตรกรแก่ประชาชน โดยให้โดยให้ผู้บริการเป็นผู้ออกแบบระบบพร้อมจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ให้ ธ.ก.ส. เช่า เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินงบประมาณจำนวน 1,008 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าระบบ 648 ล้านบาท และค่าจัดทำบัตรจำนวน 3 ล้านใบ วงเงิน 360 ล้านบาท
เกณฑ์การคัดเลือกผู้ให้บริการจะกำหนดแนวทางพิจารณาจากด้านเทคนิค โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในด้านต่างๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคะแนนทุกข้อรวมกันไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน จึงจะผ่านเกณฑ์และได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในวันที่ 29 ก.ย.เพื่อจัดทำระบบ ให้สามารถออกบัตรเครดิตเกษตรกรได้ ภายในวันที่ 1 พ.ย.
ทั้งนี้รูปแบบบัตรเครดิตเกษตรกรจะเป็นแบบ สมาร์ทการ์ โดยมีการเก็บข้อมูลที่ใช้พิสูจน์ตัวตนของลูกค้าไว้ในบัตร รวมทั้งจะมีการวางระบบให้ครอบคลุมด้านบริหารจัดการบัตร เช่น ระบบทะเบียนสมาชิก และ ด้านการบริหารจัดการวงเงินบัตรเครดิต เช่น การควบคุมไม่ให้ใช้เกินวงเงิน การเพิ่ม-ลดวงเงินตามเงื่อนไข และด้านการบริหารจัดการลูกหนี้และการชำระหนี้
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกจะจำกัดการใช้เฉพาะการชำระค่าปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรซื้อจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.และร้านค้าเครือข่าย จำนวนกว่า 3,000 ร้านค้า และเพิ่มเป็น 5,000 ร้านค้า ในปีต่อๆไป และในโอกาสต่อไปจะขยายวัตถุประสงค์ให้สามารถกดเงินสดและชำระค่าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคได้
นายลักษณ์กล่าวว่า การเปิดให้บริการบัตรเครดิตเกษตรกร ธ.ก.ส. ได้กำหนดเงื่อนไขพร้อมจัดทำสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น กำหนดวงเงินกู้ในบัตรไม่เกิน 70% ของมูลค่าผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขายของเกษตรกรผู้กู้แต่ละราย อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7) หรือ 0 % กรณีรัฐบาลอุดหนุน ฟรีค่าทำบัตร ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี ปลอดดอกเบี้ย 30 วัน ฟรีประกันชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท กำหนดวงเงินกู้ฉุกเฉินให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษกรณีฝากเงิน
ทั้งนี้คาดว่าในปีแรกจะมีปริมาณการใช้สินเชื่อผ่านบัตรเครดิตประมาณ 20,000 ล้านบาท ปีที่ 2 ประมาณ 44,600 ล้านบาท และปีที่ 3 ประมาณ 70,000 ล้านบาท
อ้างอิง: http://www.posttoday.com