data-ad-format="autorelaxed">
เกษตรพะเยาเตือนระวังการระบาดของเพลี้ยไก่ฟ้า หรือไก่แจ้ ในสวนลำไย ย้ำเกษตรกรหมั่นดูแลสวนอยู่เป็นประจำ และพ่นสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม จะสามารถควบคุมแมลงชนิดนี้ได้
นายราเชนทร์ สุวรรณหิตาทร เกษตรจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า หลังเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา ลงพื้นที่ในอำเภอเชียงคำ พบการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้ หรือเพลี้ยไก่ฟ้าในลำไย อยู่ในขณะนี้
ตามข้อมูลทางวิชาการพบว่า เพลี้ยไก่แจ้ลำไย หรือเพลี้ยไก่ฟ้า เป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะตัวสีขาวเล็ก มีหางยาวเล็กๆ 2 เส้น ตามลำตัวมีปุยสีขาวติดอยู่ โดยเฉพาะด้านท้ายของลำตัว ที่มีปุยขาวคล้ายหางไก่จึงมีชื่อเรียกว่า เพลี้ยไก่แจ้ หรือเพลี้ยไก่ฟ้า มักหลบอยู่หลังใบอ่อน ชอบอยู่รวมกันเป็นกระจุกทั้งตัวอ่อน และตัวโตเต็มวัย จะทำความเสียหายให้แก่ลำไย โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนลำไย ทำให้ใบอ่อนไม่เจริญและเล็กผิดปกติ นอกจากนั้นทำให้ใบหงิกงอ เป็นจุดแผลสีเหลืองเล็กๆ ตามใบ ถ้าถูกทำลายมากๆ บางครั้งใบอ่อนจะร่วงหมดทั้งต้น ทำให้ยอดอ่อนของลำไยแห้งตายได้
ทั้งนี้ ถือได้ว่าเพลี้ยไก่ฟ้าหรือไกแจ้ เป็นศัตรูพืชชนิดใหม่ที่เพิ่งพบในฤดูปลูกปี 2552 แม้ว่าจะมีรายงานการพบแมลงชนิดนี้ระบาดในประเทศจีนเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วก็ตาม โดยพบว่าเพลี้ยเข้าทำลายโดยการดูดกินจากยอดอ่อน ภายในเวลาอั้นสั้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ยอดที่ถูกดูดกินจะร่วงหล่น ใบที่ยังติดอยู่จะบิดเบี้ยวหดสั้นและมีแผลเป็นรอยไหม้ เพราะถูกดูดกินน้ำเลี้ยงเป็นจุดๆ
การระบาดพบที่แหล่งปลูกลิ้นจี่และลำไย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเพลี้ยไก่แจ้ส้มลงระบาดในลิ้นจี่และลำไย ซึ่งเป็นแมลงคนละชนิดแต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน นอกจากนี้ก็พบรายงานการระบาดที่เชียงรายและที่ลำพูนด้วย
อย่างไรก็ตาม หากชาวสวนที่หมั่นดูแลสวนอยู่เป็นประจำและพ่นสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมประเภทคลอไพรรีฟอส หรือไซเปอร์เมททิน ป้องกันกำจัดได้ทันท่วงที ก็จะควบคุมแมลงชนิดนี้ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา โทร. 0-5488-7050-1 ในวันเวลาราชการ
อ้างอิง :
http://www.manager.co.th
http://pattarawoot.multiply.com/photos/photo/87/4