data-ad-format="autorelaxed">
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรได้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าวนาดอน แล้วหันมาปลูกอ้อยแทนจำนวน 1 ล้านไร่ ส่งผลให้ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2554/2555 จะมีพื้นที่?เพาะปลูกอ้อยรวม 7-8 ล้านไร่ เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่หันมาปลูกอ้อยกันมากจากเดิมที่ปลูกกันน้อย โดยคาดว่าฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ทั่วโลกจะมีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดไม่ต่ำกว่า 10.3 ล้านตัน จากปีนี้ขาดตลาด 0.5 ล้านตัน โดยคาดว่าจะมีน้ำตาลที่ได้จากผลผลิตอ้อย 145.4 ล้านตัน
ขณะที่โรงงานน้ำตาลควรเร่งการเจรจาในการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับผู้ค้าในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเชีย, ญี่ปุ่น, จีน เพราะหากล่าช้าอาจทำให้ขายน้ำตาลได้ลำบากหรือขายได้ในราคาไม่ดี
"ไทยต้องเร่งเจรจาขายน้ำตาลกับต่างประเทศก่อนเพื่อให้ได้ราคาดี ซึ่งล่าสุดมีการเจรจาขายล่วงหน้าในปี 2555 แล้ว 50% ราคาเฉลี่ย 22-23 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งยังได้ราคาสูงเป็นที่น่าพอใจขณะที่ช่วงน้ำตาลล้นตลาดประเทศจีนอาจจะเก็บซื้อในการเพิ่มสต็อกล่วงหน้า 3-4 เดือนเพื่อเลี้ยงประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และที่สำคัญหากน้ำตาลมีมากจีนสามารถซื้อได้ในราคาถูกลง"
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายของไทย ล่าสุดมีน้ำตาลค้างกระดานเกือบ 2 ล้านกระสอบ หรือค้างกระดาน 1 เดือน ซึ่งถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง และที่สำคัญราคาขายปลีกตามตลาดทั่วไปเฉลี่ยที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ลดลงจากช่วงที่ปริมาณน้ำตาลทรายตึงตัวในช่วงปลายปี 2553 มากถึง 5 บาทต่อก.ก. ซึ่งเป็นผลจากน้ำตาลราคาตลาดโลกปรับลดลงทำให้ส่วนต่างราคาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านลดลงจนไม่จูงใจแก่ผู้ลักลอบ และไม่จูงใจให้ผู้ที่กักตุนสินค้าด้วย
อ้างอิง: http://www.biothai.net