data-ad-format="autorelaxed">
ในการปลูกอ้อยส่งโรงงาน ชาวบ้านมีความเสี่ยงใน 3 ขั้นตอนคือ
1. ความเสี่ยงในขั้นตอนการปลูก ในช่วงนี้มีความเสี่ยงคือ ฝนแล้งทำให้ตอไม่งอก หรือฝนตกมากทำให้ตอเน่า ไฟไหม้นอกฤดูเปิดหีบ ทั้ง 3 กรณี จะเกิดความเสียหายทั้งหมดและทำให้ชาวบ้านต้องปลูกอ้อยใหม่
2. ความเสี่ยงในขั้นตอนที่อ้อยกำลังเติบโต ช่วงนี้มีความเสี่ยงคือ เกิดโรคเพลี้ยระบาด
หนอนกอ โรคใบเหลือง/ใบขาว หากเกิดโรคเพลี้ยระบาดจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออ้อยร้อยละ 20 โรคหนอนกอทำให้เกิดความเสียหายร้อยละ 50 โรคใบเหลือง/ใบขาว ทำให้เกิดความเสียหายร้อยละ 80 ถึงเสียหายทั้งหมด การเกิดปัญหาในส่วนนี้จะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นคือ
- ค่ารถไปซื้อยา 100 บาท
- ค่ายาเพลี้ยระบาด 250 บาท
- ค่ายาหนอนกอ 100 บาท
- ค่ายาใบเหลือง/ใบขาว 100 บาท
- ค่าจ้างฉีดยา 200 บาท
3. ความเสี่ยงในขั้นการขาย ปัญหาในช่วงนี้คือ ราคาไม่แน่นอน เกิดไฟไหม้ช่วงเปิดหีบ
ทำให้ราคาอ้อยลดลงร้อยละ 20 หากตัดอ้อยไม่ทันใน 1 เดือนจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมด และกรณีหารถมาขนอ้อยไม่ได้ภายใน 1 สัปดาห์ จะทำให้เกิดความเสียหายร้อยละ 50
ทั้งหมดนั้นคือความเสี่ยงของชาวบ้านชาวบ้านที่ต้องแบกรับภาระฝ่ายเดียว
ต้นทุนในการปลูกอ้อย
ในการปลูกอ้อย นักวิจัยไทบ้านพบว่ามีต้นทุนที่ชาวบ้านไม่เคยคิดมาก่อน ตาราง 1 แสดงต้นทุนในการปลูกอ้อยตอ 1 ซึ่งไม่รวมค่าแรงและค่าสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดิน ซึ่งหากรวมต้นทุนในส่วนนี้ ชาวบ้านก็จะขาดทุนดังแสดงในตาราง 2
การที่ชาวบ้านไม่คิดค่าแรงงานของตนเองเป็นเพราะชาวบ้านตกอยู่ภายใต้การที่ถูก
อำพรางทุน ทำให้ชาวบ้านมองว่าตนเองไม่ได้ลงทุนอะไร จึงคิดว่าการปลูกอ้อยไม่ได้ขาดทุน
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการปลูกอ้อย
ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม
การปลูกอ้อยเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ดินเสื่อม โดยเฉพาะในกรณีที่นายทุนเช่าที่ดินชาวบ้านปลูกอ้อย หรือชาวบ้านปลูกอ้อยแล้วขายอ้อยตอ 1 ให้นายทุนที่เรียกว่าขายอ้อยอ่อนหรือขายอ้อยตกเขียว เพราะนายทุนจะให้ความสำคัญกับอ้อยตอ 1 ที่ตนเองมีสิทธิ์ ขณะที่อ้อยตอ 2 หรืออ้อยหลังการตัดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อนายทุนได้เป็นเจ้าของอ้อยในไร่ก็ได้บำรุงต้นอ้อยด้วยการใส่ปุ๋ยเยอะเกินปริมาณเพื่อที่จะเร่งผลผลิต ทำให้สารเคมีสะสมที่หน้าดินมากเกินไป เกิดความเสื่อมโทรมและพังทลายของหน้าดิน แร่ธาตุในดินสูญหาย และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกอ้อยในครั้งต่อไปไม่เจริญเติบโต
ที่สำคัญอีกประการก็คือ สารเคมีจะตกตกค้างบริเวณรอบๆ ไร่อ้อยและไลลงไปสะสมบริเวณที่ลุ่ม เช่น หนองน้ำที่เป็นแหล่งสัตว์น้ำและพืชที่เป็นอาหารของชาวบ้าน ทำให้สัตว์น้ำและพืชได้รับสารเคมีสะสม และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในระยะยาว
ถ้าดินเสื่อมไม่ว่าจะใส่ปุ๋ยจะฉีดยามากแค่ไหนก็ทำให้ดินกลับมาดีเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะตัวสารเคมีทำลายสารอาหารในดินหมดแล้ว และในกรณีที่ดินตาย ทธิ์ ขณะที่อ้อยตอ 2 หรือตออใส่ปุ๋ยมากเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ยกเว้นการฟื้นฟูด้วยการใส่ปุ๋ยชีวภาพ
ในกรณีที่นายทุนซื้ออ้อยตกเขียวไป นายทุนจะจะบำรุงอ้อยมากจนเกินไปส่งผลกระทบให้หน้าดินของชาวบ้านเสียหาย และถ้าปลูกอ้อยในฤดูการต่อไปจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพปลูกพืชไม่งามอย่างที่เคยเป็น
นอกจากนั้น นายทุนยังมีการยกร่องเพื่อระบายน้ำซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หน้าดินพังทลาย โดยนายทุนจะยกร่องไปทางที่ชันจึงเกิดการพังของหน้าดิน และในกรณีที่ขายอ้อยเขียว นายทุนก็จะมาบำรุงใส่ปุ๋ยเหมือนในกรณีที่เช่าที่เช่นกัน
การปลูกอ้อยยังเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะต้องตัดไม้ธรรมชาติออกหมดเนื่องจากอ้อยต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตสูง นอกจากนั้น การตัดต้นไม้ธรรมชาติออกจากไร่อ้อยยังมาจากการที่นายทุนที่มาซื้ออ้อยอ่อนสั่งให้ตัด ถ้าไม่ตัดออกจะถูกนายทุนหักเงินหรือที่เรียกว่าหักดอก ไม่เพียงแต่มีต้นไม้ในไร่เท่านั้นที่โดนหักเงินยังรวมไปถึงถ้ามีจอมปลวกในไร่อ้อยก็จะโดนหักเงินเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าชาวบ้านมีที่ปลูกอ้อย10 ไร่ หากในไร่นั้นมีต้นไม้หรือจอมปลวก นายทุนก็จะตัดออกให้เหลือ 9 ไร่ครึ่ง ส่งผลให้ชาวบ้านต้องตัดสินใจตัดต้นไม้หรือไถจอมปลวกออกจากไร่
สารเคมีตกค้างและผลกระทบต่อสุขภาพ
นักวิจัยไทบ้านเชื่อว่า มีชาวบ้านหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีฉีดยาในไร่อ้อย แต่เมื่อไปของใบรับรองแพทย์ที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะไม่ระบุในการรักษาว่าคนไข้ได้รับอันตรายจากสารเคมีจนถึงแก่ชีวิต โรคที่เกิดจากสารเคมีในไร่อ้อยคือโรคที่เกี่ยวกับปอดและตับซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี โดยเฉพาะคนที่รับจ้างฉีดหญ้าเป็นประจำจะได้รับสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกาย ซึ่งในพื้นที่เขตดงมูลส่วนมากจะเสียชีวิตเพราะเกิดโรคเกี่ยวกับปอดและตับ
ชาวบ้านยังสังเกตเห็นว่า หากยาที่ฉีดไปยังไม่ละลายและซึมเข้าสู่หญ้าจะเป็นสารพิษตกค้างในใบหญ้า หากวัวกินหญ้าที่มีสารพิษวัวเข้าไป จะทำให้วัวมีลักษณะผอมลงเรื่อยๆ และตายในที่สุด เมื่อวัวตายชาวบ้านเคยผ่าดูเครื่องในพบว่าลำไส้ของวัวตัวนั้นเน่า บวม และมีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านจึงสันนิษฐานว่าเกิดจากสารพิษในหญ้าที่วัวกินเข้าไป
การเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงเนื่องมาจากการใช้ยาฆ่าหญ้าแบบดูดซึม เช่น การฉีดยาฆ่าหญ้า แต่ชาวบ้านบางคนไม่รู้ว่าเป็นย่าฆ่าหญ้า คิดว่าเป็นหมอกจึงไปเกี่ยวหญ้าเหล่านั้นมาให้วัวควายกิน ทำให้สัตว์เลี้ยงของตนตาย
การปลูกอ้อยยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากการปลูกอ้อยไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นแทรกได้หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พืชไร้ญาติ” ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งอาหารทางธรรมชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ ผลไม้ป่าที่เคยอยู่ในท้องไร่ท้องนาลดลงไป เช่น เครือหมาน้อย ไผ่ บักแงว อีลอก บุก และสัตว์เล็กสัตว์น้อยเช่น กุ้ง หอย ปู ปลา คอแลน กิ้งก่า เป็นต้น ปัญหาการลดลงของชีวภาพทั้งที่เป็นผลมาจากไฟไหม้ป่า การปลูกอ้อย และการใช้สารเคมี ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่ออาหารธรรมชาติที่ชาวบ้านเคยพึ่งพา
นอกจากนั้น การใช้สารเคมีเข้มข้นยังทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำพืชผักและอาหารตามธรรมชาติมารับประทานได้เหมือนเดิม
ฝุ่นไฟและควันจากการเผาไร่อ้อย
ในช่วงฤดูเปิดหีบที่มีการลักลอบเผาไร่อ้อย ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน ได้ทำให้เกิดเขม่าลอยเต็มท้องฟ้าและมาตกตามบ้านเรือนของชาวบ้าน และทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในหมู่บ้าน แม้แต่เสื้อผ้าที่แขวนไว้ตามราวบ้านก็จะสกปรกไปด้วย ชาวบ้านพบว่าในช่วงดังกล่าวจะเกิดมลพิษทางอากาศในระดับรุนแรงและได้ส่งผลถึงกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของชาวบ้าน เพราะช่วงนี้ชาวบ้านจะเป็นโรคหอบหืดกันมาก
การเผาอ้อยยังทำให้เกิดความเดือดร้อยอย่างอื่น เช่น เถียงนาไฟไหม้ และในบางครั้งไฟลามไปไหม้สวนยางของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเกิดความเสียหายรุนแรง
นอกจากการเผาอ้อยทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้ว ระบบการผลิตอ้อยยังทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการคมนาคม โดยเฉพาะในช่วงเปิดหีบอ้อยที่รถขนอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกินอีกทั้งมีรถพ่วงขนาดใหญ่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการที่รถอ้อยพลิกคว่ำ การบรรทุกอ้อยที่น้ำหนักเกินมากเกินไปยังทำให้ถนนภายในหมู่บ้านเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภายใต้ระบบการผลิตอ้อยส่งโรงงานที่ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในวงจรหนี้สินทั้งจากการขายอ้อยเขียวและการตกเขียวแรงงาน ทำให้ต้องนำที่ดินไปจำนอง ถ้าไม่มีเงินไปไถ่ที่ดิน ที่ดินก็จะหลุดจากมือของชาวบ้าน การเป็นหนี้ทำให้พลังในการผลิตช้าลง ดังจะเห็นได้จากแม้ว่าค่าจ้างในการทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่ขาดคนงานรับจ้าง การผลิตอ้อยจึงทำให้ความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของตนเองของชาวไร่ชาวนาลดน้อยลง
การตกอยู่ในวงจรหนี้สินยังทำให้พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกสาวหาสามีฝรั่ง ทำให้ในหมู่บ้านมีเขยฝรั่ง และเมื่อเขยฝรั่งเข้ามาในหมู่บ้าน ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าก็ทำให้ฝรั่งสามารถเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำธุรกิจและทำการเกษตรในท้องถิ่นมากขึ้น คู่สมรสคนไทยจึงกลายเป็นนายทุนหน้าใหม่ บางคนกลายเป็นนายทุนระดับเสี่ยย่อยและเข้ามาเป็นโควตามากขึ้น ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าชาวบ้านมีสามีเป็นฝรั่งมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ปัญหาทางสังคมจากการผลิตอ้อยที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือการทำให้ชาวบ้านติดยาบ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูตัดอ้อยจะมีนายทุนเอายาบ้ามาใช้เพิ่มกำลังให้แรงงาน ซึ่งนายทุนจะมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำงาน การติดยาบ้าได้สร้างความเสียหายและเกิดอาชญากรรมตามมาในหมู่บ้าน
ที่สำคัญอีกประการก็คือ เมื่อดงมูลได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตอ้อยได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของทุนจากภายนอกเข้ามา โดยเข้ามาในรูปของโควตา และทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่นายทุนระดับต่างๆ ผูกสัมพันธ์กันและเข้ามาผูกสัมพันธ์กับชาวบ้านผ่านสัญญา-หนี้ ทำให้เกิดนายทุนท้องถิ่นและเกิดการรวมตัวทางชนชั้นที่มีเครือข่าย มีการผูกขาดและขูดรีดคนในท้องถิ่น ซึ่งทุนเป็นปัจจัยอำนาจสูงสุด ขณะที่คนจนในหมู่บ้านจะเพิ่มขึ้นลงเรื่อยๆ
การปลูกอ้อยในระบบพันธะสัญญาส่งผลให้เกิดการแตกแยกในชุมชน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนไม่มีความเป็นเอกภาพ เพราะนายทุนเห็นแก่ได้ทำเพื่อผลกำไรไม่ได้นึกถึงคนในหมู่บ้าน ขณะที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันภายในหมู่บ้าน
นักวิจัยไทบ้านพบว่า ปัจจุบันสังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านดงมูลเปลี่ยนไป เพราะระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน (น้ำพึ่งเรือเสื่อพึ่งป่า) เป็นเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนลดน้อยลง ไม่มีความเอื้ออาทรกันและกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัด เช่น ถ้าลูกหาปลามาได้ก็จะขายให้พ่อแทนที่จะให้พ่อไปกินเฉยๆ แสดงให้เห็นว่า ความเอื้อเฟื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดเป็นสังคมที่เป็นปัจเจกมากขึ้น อีกทั้งการเข้าร่วมงานบุญของชาวบ้านเดี่ยวนี้มีน้อยไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
การต่อรองของชาวบ้านภายใต้ระบบโควต้า
ในการต่อรองของชาวบ้านสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ยังมีการปลูกอ้อยและมีการต่อรองกับระบบ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ต่อรองด้วยการปรับวิธีการผลิต และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธระบบ
กลุ่มที่ต่อรองกับระบบ
ชาวบ้านส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปลูกอ้อยอย่างเดียวและได้ทำการต่อรองกับระบบโดยการไม่เข้าโควต้าตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลกำหนด เนื่องจากหากเข้าโควต้าก็จะทำให้ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่การไม่เข้าโควต้าทำให้ชาวบ้านไม่ต้องขายอ้อยให้กับโควต้า และมีทางเลือกโดยหันไปขายลานย่อยแทน ขณะที่เกษตรบางส่วนได้หันมาขายอ้อยเขียวแทน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากราคาอ้อย รวมทั้งการเสี่ยงจากอ้อยเป็นโรค
ชาวบ้านบางคนแม้ว่ายังปลูกอ้อย แต่ก็ได้ลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เช่น นายสมศรี สาเทวิน อายุ 44 ปี ที่ปลูกอ้อยตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ปลูกครั้งแรกประสบความสำเร็จโดยการขายอ้อยแบบขายเหมาให้เถ้าแก่ แต่ต่อมาประสบปัญหาค่าปุ๋ยแพงถึง 4,000 บาท สมศรีจึงได้ทดลองใช้ปุ๋ยสูตร 30 ตัน/ไร่ ด้วยการปลูกอ้อยควบคู่กับมันสำปะหลัง โดยนำปุ๋ยไปใส่อ้อยโรยแล้วไถกลบ เมื่อใส่ปุ๋ยชีวภาพทำให้ได้ผลผลิตดีได้ราคาประมาณ 12,000 บาท
นอกจากนั้น ชาวบ้านบางคนจะตัดสินใจปลูกอ้อยโดยการวิเคราะห์ราคาก่อนการลงทุน ดังกรณีของพ่อสมหมาย อายุ 64 ปี ประมาณปี พ.ศ.2544-2545 พ่อสมหมายปลูกอ้อย 12 ไร่ และปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่ง ปลูกอ้อยได้ปีเดียวก็หันกลับมาปลูกมันสำปะหลังแทน และประมาณปี พ.ศ.2553 ได้กลับมาปลูกอ้อยอีกครั้ง โดยปลูก 8 ไร่ ซึ่งการปลูกอ้อยก็จะดูราคาก่อนการลงทุน หากราคาไม่ดีก็จะไม่ลงทุน
กลุ่มที่ต่อรองด้วยการปรับวิธีการผลิต
ชาวบ้านในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียว แต่ผลิตพืชอย่างอื่นด้วย โดยการแบ่งสัดส่วนของที่ดินเพื่อทำการเกษตรอย่างอื่น เช่น ปลูกพริก ปลูกมะเขือ เลี้ยงปลา เป็นต้น เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ตัวอย่างของชาวบ้านกลุ่มนี้คือ กรณีของพ่อสมเดช สิงห์ประสาท อายุ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ.2538 พ่อสมเดชได้เช่าที่ดินเพื่อปลูกอ้อยจำนวน 9 ไร่ ในอัตราค่าเช่าที่ไร่ละ 300 บาท แต่ต่อมาก็ต้องเลิกปลูกอ้อยเนื่องจากพื้นที่อยู่ไกลเกินไป ไม่สะดวกในการเดินทาง ในอดีตพ่อสมเดชเคยได้กำไรจากการปลูกอ้อยเพราะปลูกแล้วขายทันที ไม่ได้ดูแลอะไรมากมายเหมือนในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันกลับมาปลูกอ้อยอีกครั้งจำนวน 4 ไร่ แต่การปลูกใหม่ในครั้งนี้ได้ปลูกในที่นาของตนเอง และได้ปรับการผลิตโดยการไม่ปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่าด้วยการปลูกพืชอื่นเสริม เช่น การปลูกมะเขือ เป็นต้น ทำให้เป็นแหล่งรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว
นอกจากนั้น ชาวบ้านดงมูลยังคิดหาวิธีการเพื่อการอยู่รอดโดยการศึกษาการปลูกข้าวไร่ในช่วงหลังจากมีการตัดอ้อยและรอการปลูกอ้อยในรอบต่อไป ซึ่งวิธีการนี้ได้ไปศึกษาจากชาวบ้านที่โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่เป็นเครือข่ายชวไร่อ้อยด้วยกัน
การต่อรองด้วยการปฏิเสธระบบ
แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลสู่ตลาดโลกเป็นลำดับต้นๆ อีกทั้งนโยบายรัฐได้กำหนดให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากผลผลิตน้ำตาลร้อยละ 70 แต่ประสบการณ์ของชาวบ้านดงมูลที่ปลูกอ้อยมานานก็คือ ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามชีวิตของชาวบ้านต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินและการสูญเสียที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิต ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งตัดสินใจเลิกการปลูกอ้อยหรือเข้าไปทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอ้อย ดังกรณีของชาวบ้านต่อไปนี้
กรณีของพ่อดุสิต รัตนเมือง อายุ 59 ปี พ่อดุสิตเคยอพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ปีที่แล้ว และเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็ส่งเงินที่ได้จากการขายแรงงานมาให้น้องดูแลไร่อ้อย โดยลงทุนครั้งแรกจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสะสม ต่อมาก็ได้กลับบ้านเกิด แต่พ่อดุสิตก็ไม่มีทุนพอที่จะลงทุน เนื่องจากการปลูกอ้อยต้องมีทุนประมาณแสนบาทจึงจะลงทุนได้ พ่อดุสิตจึงได้เปลี่ยนมาปลูกต้นยูคาลิปตัสที่ลงทุนประมาณ 3 หมื่นบาท โดยปลูกยูคาลิปตัสประมาณ 15 ไร่ พ่อดุสิตบอกว่าการตัดสินใจเลิกปลูกอ้อยมาเป็นยูคาอย่างน้อยที่สุดก็มีความเสี่ยงต่ำกว่าการปลูกอ้อยมาก อีกทั้งยังทำให้พ่อดุสิตมีเงินเหลือนำไปดาวน์รถให้ลูกนำไปใช้เพื่อค้าขาย
กรณีของพ่อเสถียร ปลัดชัย อายุ 52 ปี ก่อนนี้พ่อเสถียรจะทำไร่ทำนา ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2545 จึงเริ่มหันมาปลูกอ้อยจำนวน 3 ไร่ โดยกู้ยืมเงินมา 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนเพื่อนำมาซื้อพันธุ์อ้อยและค่าจ้างแรงงาน ในการปลูกอ้อยตอแรก พื้นที่ 3 ไร่ ได้อ้อย 27 ตัน ตอ 2 ได้อ้อย 16 ตัน แต่ทำมา 4 ปี ก็ยังเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม ปัจจุบันก็ยังเป็นหนี้อยู่ 5,000 บาท จึงตัดสินเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยมาปลูกมันสำปะหลังแทน และกลับมาปลูกอ้อยอีกครั้ง และปลูกแค่ตอแรกเท่านั้น ตอ 2 ก็ไม่ได้ปลูกต่อ เพราะขาดทุน จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังจนถึงปัจจุบัน
สำหรับชาวบ้านที่หันหลังให้กับการปลูกอ้อยอย่างถาวรและหันมาทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติก็คือ กรณีของพ่อคมสัน เหล่าลาภะ เหตุผลที่พ่อคมสันเลิกปลูกอ้อยเพราะต้องส่งลูกเรียน ไม่มีเงินสำรอง ต้องจำนองที่ดิน ต่อมาไม่นานนักก็ต้องขายไร่อ้อยและขายที่ไป 9 ไร่ และได้นำไปจำนอง 13 ไร่ ที่เหลืออีก 8 ไร่ ปลูกไม้ยูคาลิบตัส 650 ต้น ในปัจจุบันพ่อคมสันได้หันมาปลูกพริก มะละกอ มะเขือ อีกทั้งยังได้ปลูกมะเขือพวงไร้หนาม โดยอาศัยน้ำในหนองน้ำประจำหมู่บ้าน และยังเลี้ยงปลา 3 บ่อ เป็นการทำการเกษตรธรรมชาติ ทำให้พ่อคมสันได้รับการคัดเลือกให้เป็นชาวบ้านอันดับหนึ่งของตำบล
พ่อคมสันบอกว่า ชีวิตของตนอยู่กับอ้อยมาเกือบ 30 ปี เป็นทั้งคนปลูกอ้อย ขับรถรับจ้างขนอ้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น ทุกวันนี้ได้หันหลังให้กับอ้อยและมีชีวิตที่มีความสุข ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและหนี้สินดังเช่นเมื่อตอนปลูกอ้อย
อ้างอิง:
http://www.facebook.com/pages/FAIR-Contract-FREE-Farming