data-ad-format="autorelaxed">
เมื่อไม่นานมานี้มีสัมมนาในหัวข้อเรื่อง The bioplastics that will change the world ที่จัดโดยสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ วัตถุประสงค์ก็เพื่อขยายฐานการผลิตไบโอพลาสติกและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ในเมืองไทย จะเป็น การดีถ้าบรรดาเอสเอ็มอีจะได้รู้ความเป็นไปของตลาดโลก และทราบว่าตอนนี้ใครทำอะไร อย่างไร ธุรกิจของเราจะขยับไปในกระบวนการเดียวกับกระแสโลกได้หรือไม่
ไบโอพลาสติก คือ พลาสติกที่เกิดจากกระบวนการทางเคมี ทำให้น้ำตาลกลายเป็นเม็ดพลาสติก สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนความเป็นไปได้ของธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่น่าสนใจทีเดียว
ไบโอพลาสติกที่บ้านเรากำลังผลักดันอยู่นี้มี 2 แบบด้วยกัน คือไบโอพลาสติก ที่ทำมาจากข้าวโพด (PLA) และ ไบโอพลาสติกที่ทำมาจากมันสำปะหลังและอ้อย (PHA/PHB)
ต่างกันตรงที่ทั้ง 2 ชนิดจะเข้าไปแทนที่กระบวนการผลิตพลาสติกใน 2 รูปแบบคือแบบที่ผลิตเป็นฟิล์ม ใช้สำหรับทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และทำถุงพลาสติก
อีกแบบหนึ่งคือทำมาจากอ้อยและมันสำปะหลังทั้ง 2 ชนิดนี้หากผ่านกระบวนการทางเคมีจะได้พลาสติกที่ทนทานกว่า ใช้ในกระบวนการผลิตแบบขึ้นโมทดแทนพลาสติกอีกแบบหนึ่ง
ไบโอพลาสติกเริ่มมีการเคลื่อนไหวในตลาดโลก ประเทศชั้นนำต่างๆ เริ่มมองหาทั้งแหล่งวัตถุดิบ และคิดค้นวิจัยเพื่อทำโรงงานต้นแบบที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้มากยิ่งขึ้น
บราซิลเริ่มแล้ว แต่...
ตอนนี้เรื่องของไบโอพลาสติกทุกประเทศจะเรียกว่าเริ่มออกตัวเกือบจะพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน อเมริกา ยุโรป ก็มีการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง
บราซิลเองก็มีโรงงานต้นแบบที่ก้าวล้ำไทยไปหลายก้าว ก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิต และมีโรงงานต้นแบบมูลค่าราว 32 ล้านบาท สามารถผลิตได้ 50 ตันต่อปี นำไปใช้ทดลองผลิตโปรดักต์ต่างๆ เช่น ถ้วย ขวด ฯลฯ แต่เป็นเพียงการทดลองผลิตและสามารถส่งออกได้ในจำนวนจำกัด
หากเปรียบเทียบกับไทยแล้ว บราซิลเองผลิตอ้อยได้ต่อปีมีปริมาณมากพอพอกับไทย แต่ขายได้ในราคาถูกคือกิโลกรัมละ 8 บาท ดังนั้นการพัฒนาเพื่อเป็นไบโอพลาสติกจึงเป็นเรื่องไม่ไกลจนเกินไป แต่ติดปัญหาเพียงอย่างเดียวคือบราซิลก็ยังมีบริมาณการผลิตที่จำกัดและเงินลงทุนที่จำกัดอยู่ดี
ส่วนการจำหน่ายพบว่าเป็นโรงงานขนาดเล็ก ทำให้ปริมาณการผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยต้นทุนราว 200 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนพลาสติกอยู่ที่ราว 40 บาทต่อกิโลกรัม บราซิลจึงเป็นโรงงานต้นแบบที่ชี้ให้เห็นว่าสามารถทำการผลิตได้จริง
แต่เหตุผลเดียวก็คือ เมื่อต้นทุนยังมีราคาแพง การผลิตมีจำนวนจำกัด ตลาดที่แท้จริงจึงยังไม่เกิด
ไทยวัตถุดิบมาก แต่ปัญหาก็...
แน่นอนว่า บ้านเราเองก็มีวัตถุดิบที่ไม่น้อยหน้าบราซิล มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ และที่สำคัญมีวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง เหมาะที่จะตั้งโรงงาน เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ในที่นี้อาจจะถูกลงพอๆ กับเมล็ดพลาสติก หรือไม่ก็แพงกว่าเม็ดพลาสติกเพียงแค่ 1 เท่า (2 ดอลล่าห์ต่อ 1 กิโลกรัม) เรียกว่า สูสี ตลาดพอรับได้
แต่ทั้งนี้สิ่งที่ยังเป็นปัญหาสำหรับผู้ผลิตในบ้านเราประการแรก ดีมานด์ในเมืองไทยยังไม่เกิด ในขณะที่ตลาดส่งออกยังไม่ชัด ผู้ประกอบการ-นักลงทุนต้องการความชัดเจนเหล่านี้ มันจึงเป็นเรื่องไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ ลงทุนก่อนตลาดจึงจะเกิด หรือตลาดมาก่อนค่อยลงทุน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เริ่มมีบางบริษัทเริ่มต้นมองหาโอกาสสำหรับธุรกิจทางด้านนี้แล้ว
การเข้ามาของบริษัท PHBISA ประเทศ Brazil และ Prof.Gerhart Braunegg ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไบโอพลาสติกจากออสเตรีย ชี้ให้เห็นว่าแบคทีเรียตัวใหม่ที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตสามารถผลิตเม็ดพลาสติกช่วยลดต้นทุนได้จริง คือน้ำตาล 3 ส่วน สามารถผลิตเม็ดพลาสติกได้ 1 ส่วน เพิ่มจากของเดิมเกือบเท่าตัว
สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ หากแต่การลงทุนในระดับที่จะผลิตเป็นโปรดักต์ต่างๆ ได้แบบโรงงานต้นแบบจะต้องมีสเกลถึง 1,000 ตันต่อปี หรือหากพอค้าขายได้กำไร ก็ไม่ควรจะต่ำกว่า 1 หมื่นตันต่อปี และจำหน่ายราคาประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท
ณ ตอนนี้กลุ่มบริษัทน้ำตาลหลายๆ บริษัทต่างก็ให้ความสนใจในโครงการนี้พอสมควร เชื่อว่าภายในปี 2554 เราจะได้เห็นโรงงานต้นแบบในเมืองไทยอย่างแน่นอน
ตลาดมี แต่ยังไม่มีใครเสี่ยง
ตัวเลขของดีมานด์ในตลาดโลก พบว่าปริมาณการใช้พลาสติกโลกอยู่ที่ 200 ล้านตันต่อปี โดยไบโอพลาสติกสามารถเข้าไปทดแทนได้ราว 100 ล้านตันต่อปี ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษมากๆ หรือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางซึ่งไบโอพลาสติกยังก้าวไปไม่ถึง
นอกจากนี้หากดูไปที่ความต้องการของผู้ใช้จริงๆ มี ตัวเลขจากสมาคมไบโอพลาสติกโซไซตี้ ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีความต้องการประมาณ 2 แสนตันต่อปี โดยเฉพาะในหมวดแพ็กเกจจิ้งมีโอกาสเติบโตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ส่วนกลุ่มประเทศที่ขยับตัวในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คือยุโรปซึ่งมีมาตรการออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่เยอรมนีให้การสนับสนุนโดยการยกเว้นภาษีให้กับผู้ผลิต ในร้านค้าถ้าใครจะเอาถุงต้องจ่ายเงินซื้อ ขณะที่ฝรั่งเศสประกาศว่าภายในปี 2010 จะต้องใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายทั้งหมด ในขณะที่อเมริกา มลรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มมีประกาศว่า จะให้ใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายแล้วในเวลานี้ เช่นเดียวกันที่ห้างวอล-มาร์ตเองก็หันใช้มาใช้ถุงไบโอพลาสติกเป็นถุงช็อปปิ้งแทนถุงก๊อบแก๊บจากพลาสติก
ฉะนั้นในตอนนี้เหลือเพียงแต่ว่าใครจะเป็นเจ้าแรกที่เริ่มขยับตัวผลิตในเชิงพาณิชย์ ในฐานะของเอสเอ็มอี กระแสใหญ่เช่นนี้ หากเราอยู่ในธุรกิจพลาสติก อาจจะเตรียมมองหารูปแบบ กระบวนการ หรือเตรียมแตกไลน์การผลิตวิจัย ในเรื่องนี้ไว้ก็นับว่าไม่เลวทีเดียว
อ้างอิง: Prachachart: May 10 http://web.sut.ac.th/