data-ad-format="autorelaxed">
แมลงช้างปีกใส กำจัดเพลี้ยแป้ง
ใช้แมลงช้างปีกใส กำจัดเพลี้ยแป้ง ทางเอาชนะศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
หลังจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง ทั้งเพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งจุดดำ และเพลี้ยแป้งสีชมพู ที่เข้าทำลายในไร่มันสำปะหลังตั้งแต่ปี 2551 จนเสียหายกว่า 6 แสนไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดที่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง 8 ล้านไร่ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงงแสน จ.นครปฐม ค้นหาวิธีใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง ในโครงการ “การใช้ศัตรูธรรมชาติทำลายล้างเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน" ซึ่งพบว่า "แมลงช้างปีกใส" เป็นตัวที่จะกำจัดและควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ดีสุด จึงเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใสแจกให้เกษตรกรแล้วกว่า 200 ราย ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี และ จ.อุทัยธานี
วรรณา มณฑาทัศน์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังใน ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ก็อีกคนหนึ่งที่รับการแจกแมลงช้างปีกใสจากโครงการ “การใช้ศัตรูธรรมชาติทำลายล้างเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน” บอกว่า มีอาชีพทำไร่มันสำปะหลังมานานแล้ว โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,000 ไร่ ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ได้ผลผลิตตกประมาณไร่ละ 4 ตันต่อครั้ง แต่ระยะหลังประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรง แม้ใช้สารธรรมชาติประเภทยาฉุน ใบมะกรูด ตะไคร้ ฉีดพ่นต้นมันสำปะหลัง ปรากฏว่าการใช้สารจากธรรมชาติไม่สามารถช่วยอะไรได้ เนื่องจากเมื่อเพลี้ยแป้งเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังแล้วจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอด ทำให้ยอดมันหงิกงอ แคระแกร็น เจริญเติบโตช้า ส่งผลทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ
"ได้ผลผลิตตกไร่ละ 4 ตัน ตอนหลังพอเพลี้ยแป้งเข้าทำลายเสียหายมาก ฉันจึงลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเหลือเพียง 400 ไร่เท่านั้น เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับการลงทุน ไหนจะเป็นค่าแรงงานปลูกมันสำปะหลัง ต้องจ้างไร่ละ 170 บาท ค่าไถดินไร่ละ 550 บาท ค่ายกร่องไร่ละ 330 บาท รวมๆ แล้วค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณไร่ละ 1,000 บาท เมื่อผลผลิตลดลง ก็ไม่คุ้ม เพราะปัจจุบันราคาขายมันสำปะหลังหน้าลานอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.05 บาทเท่านั้น ฉันคิดว่าหากเป็นเช่นนี้ก็คงไม่ไหว พอดี วช.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ดำเนินโครงการ การใช้ศัตรูธรรมชาติทำลายล้างเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน จึงขอร่วมโครงการด้วย" วรรณา กล่าว
แมลงช้างปีกใสที่ วรรณา ได้รับจากโครงการดังกล่าวมาปล่อยในไร่มันสำปะหลังของเธอนั้น เป็นสายพันธุ์เพสเซียไครส์ซา แรมบุรี (plesiachrysa ramburi)และมาลลาด้า บาซาลีส (mallada basalis) มี 2,500 ตัว วรรณาคาดว่าจะสามารถหยุดยั้งการระบาดเพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายไร่มันสำปะหลังลงได้ เพราะเป็นการใช้วิธีธรรมชาติฆ่าแมลงศัตรูพืชประเภทเพลี้ยแป้ง ตรงนี้จะทำให้ลดการใช้สารเคมี และเกษตรกรมีความปลอดภัยอีกด้วย
แมลงช้างปีกใส มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopa basalis (walkes) เป็นแมลงประเภทแมลงตัวห้ำที่สามารถทำลายศัตรูพืชได้อย่างกว้างขวาง เช่น เพลี้ยอ่อน ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง หนอนตัวเล็กๆ ของผีเสื้อที่เป็นไข่เดี่ยวๆ และไข่ของแมลงหลายชนิดในธรรมชาติ ที่สำคัญแมลงช้างปีกใสควบคุมได้ทั้งศัตรูพืชผัก ศัตรูข้าว ศัตรูพืชไร่ ศัตรูไม้ผล เป็นต้น โดยแมลงช้างปีกใส 1 ตัวสามารถกินเพลี้ยอ่อนได้วันละ 60 ตัว แมลงช้างปีกใสเจริญเต็มวัย 1 ตัว จะมีอายุอยู่ได้ราว 1-2 เดือน ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 300-600 ฟอง
ในส่วนของโครงการ "การใช้ศัตรูธรรมชาติทำลายล้างเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน" วช.ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งจุดดำ และเพลี้ยแป้งสีชมพู ครอบคลุมพื้นที่ อ.พนมทวน อ.เลาขวัญ อ.ห้วยกระเจา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ตั้งเป้าว่าจะสามารถลดประชากรเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่เกิน 30% ในปีที่ 1 และไม่เกิน 10% ในปีที่ 2 เป็นต้น
อ้างอิง : http://www.komchadluek.net