data-ad-format="autorelaxed">
แม้ว่าข้าวสาลีซึ่งเป็นธัญพืชเมืองหนาว ไม่ใช่พืชหลักสำหรับเกษตรกรไทย แต่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน ข้าวสาลีเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เกษตรกรเหล่านี้สนใจปลูกข้าวสาลีเป็นพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศหนาวและปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด ซึ่งไม่เหมาะกับพืชหลังนาชนิดอื่นๆ ในช่วงปี 2539/40 - 2543/44 เป็นช่วงการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐโดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทำให้มีพื้นที่ปลูกข้าวสาลีประมาณ 3,000 - 10,000 ไร่ ผลผลิตรวมอยู่ในช่วง 400 - 1,000 ตัน/ปี แต่ผลผลิตในแปลงเกษตรกรเฉลี่ยเพียง 150-180 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งค่อนข้างต่ำ
อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการของ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประชากรร้อยละ 96 ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีพื้นที่ทำการเกษตร 57,000 ไร่ จากข้อมูลการสำรวจสภาพเศรษฐกิจของโครงการพัฒนาความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่านฯ พื้นที่ 9 ปี 2543 พบว่า ราษฎรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 16,000 บาท เป็นรายได้จากภาคการเกษตรเฉลี่ย 4,460 บาท และนอกภาคเกษตรเฉลี่ย 11,500 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ทำให้เกษตรกรปล่อยที่นาทิ้งร้างในช่วงฤดูแล้งเพื่อออกไปรับจ้างในตัวเมือง
โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของข้าวสาลี เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่นาในฤดูแล้ง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี ซึ่งนำไปสู่การสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกร จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตที่แปรรูป เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่นาได้อย่างเต็มที่ตลอดฤดูกาล ลดปัญหาการย้ายถิ่นในฤดูแล้ง และเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากปัจจุบันต้องพึ่งพาการนำเข้าในพื้นที่ ในรูปของผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวสาลี เช่น บะหมี่ ขนมเบเกอรี่ต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน
ไบโอเทคจึงร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของข้าวสาลี เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่นาในฤดูแล้ง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีการศึกษาศักยภาพของผลผลิต องค์ประกอบของผลผลิต และคุณภาพของข้าวสาลีสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการคัดและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การจัดการเขตกรรมและเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวสาลีเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บะหมี่ ขนม ให้กับเกษตรกรที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ผลการดำเนินงาน
จากการดำเนินงานพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 29 ราย เพิ่มผลผลิตข้าวสาลีจากเดิม เฉลี่ย 180 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 320 กิโลกรัม/ไร่ โดยผลผลิตที่ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
1) เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูการผลิตต่อไป
2) ส่งจำหน่ายให้กับบริษัทผลิตแป้งซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแปซิฟิก ฟลาวมิลค์ จำกัด ให้การสนับสนุนรับซื้อในราคาประกัน และช่วยเหลือค่าขนส่งกับเกษตรกร
3) แปรรูปเป็นแป้งและผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น
ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการปลูกข้าวสาลีประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ และจากการศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพของสายพันธุ์ข้าวสาลีพบว่า สายพันธุ์ลำปาง 4 มีความเหมาะสมเนื่องจากสีเมล็ดเหลืองสว่างสม่ำเสมอ เมล็ดอวบ เปอร์เซ็นต์ความชื้นและเถ้าต่ำ แต่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีเป็นที่ต้องการในการผลิตแป้งระดับอุตสาหกรรม
โครงการฯ ได้พัฒนาเครื่องโม่แป้งข้าวสาลีต้นแบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในระดับชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องที่ใช้ในที่อื่นๆ ของประทศไทย โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเดิม 60 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เป็น 190 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตเป็นแป้งประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีเครื่องโม่แป้งข้าวสาลีต้นแบบเพื่อผลิตแป้งข้าวสาลีจำหน่าย และแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชน นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีสู่ชุมชน โดยการฝึกอบรมการแปรรูปแป้งข้าวสาลีเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นบะหมี่ ขนม เพื่อการบริโภคในท้องถิ่น และจัดทำเป็นโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน เป็นการเพิ่มอาชีพทางเลือกให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)