สวนพ่อสุรวุฒิ ตั้งอยู่ที่ ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร บริหารงานโดยคุณฐิติมา แท่นนิล และครอบครัว เจ้าของสวนมัลเบอร์รีและศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลหลักสอง โดยคุณฐิติมาได้เล่าถึงที่มา ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ให้ฟังว่า
“เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่แรก ปลูกพืชแบบผสมผสาน มีฝรั่ง มะนาว มะพร้าว กล้วย ทำโดยยึดหลักตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวงานเกษตรกำแพงแสน และได้ซื้อต้นมัลเบอร์รี หรือต้นหม่อน ติดมือกลับบ้านมา 2 ต้น โดยแบ่งกับพี่ชายคนละต้น ได้นำมาปลูกที่บ้านซึ่งต่อมาออกลูกดกจนกินไม่ทัน จึงเอาไปขายรวมกับผลผลิตอื่น ๆ ซึ่งขายดี โดยลูกค้าที่มาซื้อได้บอกว่ามัลเบอร์รีเป็นผลไม้ที่มีสารต้านมะเร็งสูง ช่วยลดสารก่อมะเร็ง นำไปปั่นเป็นน้ำแล้วให้ผู้ป่วยมะเร็งดื่มสามารถช่วยรักษาโรคได้ ซึ่งตัวเรากับสามีก็คิดว่าในเมื่อปลูกง่ายและขายดี มีคนซื้อ จึงปลูกเพิ่ม จากต้นเดียวกลายเป็นหลักสิบต้น ขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จากกิโลกรัมละ 80 จนเป็น 200 บาทที่ราคาหน้าสวน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเพราะขายส่งรวมทั้งแปรรูปได้ราคาดี”
ซึ่งประโยชน์และคุณค่าของมัลเบอร์รีนั้น คุณฐิติมาอธิบายว่า
ควบคุมความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ควบคุมเบาหวาน
มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหัวใจ มะเร็ง
มีวิตามิน B6 ช่วยบำรุงเลือด ลดการเกิดสิวและปวดประจำเดือน
มีวิตามิน C สูง ป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคปอด วัณโรค ป้องกันเชื้อไวรัส
ช่วยบำรุงให้เส้นผมดกดำ ป้องกันผมหงอกก่อนวัย
ในปัจจุบันสวนพ่อสุรวุฒิขยายการปลูกมัลเบอร์รีเป็น 300 ต้น ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้กระจายขายไปทั่วในเขตภาคกลาง สร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ
“ซึ่งวิธีการปลูกนั้นไม่ยาก สามารถปลูกได้ทั่วไป โดยสายพันธุ์ของเราคือ “กำแพงแสน 42” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลูกดก รสชาติหวาน เติบโตง่าย เหมาะกับพื้นที่ในเขตภาคกลาง โดยใช้กิ่งชำในการปลูก เว้นระยะห่างประมาณ 2-3 เมตรต่อต้น ปลูกทิ้งไว้โดยไม่ต้องดูแลอะไรมาก ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ช่วงที่แตกใบอ่อนฉีดยาบำรุงที่เป็นชีวภาพแค่ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ ปลูกครบ 7-8 เดือนจะออกผลผลิตให้เก็บได้ หลังจากออกผลผลิตแล้วให้ตัดแต่งกิ่ง จากนั้นเว้นช่วง 3 เดือน ก็จะออกผลผลิตในครั้งต่อไป ซึ่งในสวนของเราปลูกเยอะถึง 300 ต้น จะออกลูกหมุนเวียนกันไปทำให้เก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
โดยตอนนี้จำหน่ายที่ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ และยังมีลูกค้าที่มารับจากสวนเพื่อไปขายต่อตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยราคาที่ขายอยู่นั้นจะอยู่ที่ 240-300 บาท แล้วแต่สถานที่ แต่สำหรับคนที่มาเที่ยวสวน ซึ่งเราเปิดเป็นที่เที่ยวด้วย จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนแม่ค้าที่มารับไปขายต่อ หากซื้อ 10 กิโลกรัมขึ้นไปจะอยู่ที่ 180 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพง เพราะทางสวนมีค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเก็บ ซึ่งค่าจ้างตรงนี้จะอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลฯ วันหนึ่งจะเก็บได้ประมาณ 8 กิโลฯ ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานอยู่ที่ 300 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งรายได้แต่ละเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีกำไรอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่น่าพอใจสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างสบาย”
ข้อดีของมัลเบอร์รีคือปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก แต่จะมีปัญหาบ้างเช่นกันในเรื่องของการเก็บเกี่ยว เพราะให้ผลผลิตจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 1 ตันในแต่ละเดือน ซึ่งเวลาเก็บนั้นจะเว้นได้แค่ 2 วัน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้คาต้นก็จะเกิดเชื้อรา ต้องเก็บออกจากต้นทุก 2 วัน ไม่เกิน 3 วัน ส่วนในเรื่องการตลาดนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะเป็นผลไม้ที่อายุน้อยวันที่สุด หากเก็บวันนี้ต้องขายให้หมดภายในวันถัดไป ถ้าไม่มีลูกค้ามาซื้อจะเน่าเสียหาย จึงต้องนำมาแปรรูป
ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปก็มีในส่วนของ น้ำมัลเบอร์รี สด 100% น้ำพร้อมดื่ม 30% โยเกิร์ตและแยมมัลเบอร์รี นอกจากนั้นยังส่งผลผลิตป้อนให้กับโรงงานเพื่อทำไส้ขนม และน้ำมัลเบอร์รีผสมว่านหางจระเข้ส่งออกนอก
และสำหรับคนที่สนใจ คุณฐิติมาแนะนำว่า
“เบื้องต้นควรไปศึกษาเรื่องตลาดก่อน ว่าปลูกแล้วจะขายให้ใคร ขายที่ไหน เพราะหากมีผลผลิตออกมาแต่ไม่มีตลาดให้ขาย ก็มีแต่ขาดทุน และหากสนใจจริงควรเริ่มปลูกน้อย ๆ ก่อนประมาณไม่เกิน 10-20 ต้น อย่าลงเยอะเป็นร้อยต้นเพราะจะทำให้เสี่ยง เนื่องจากมัลเบอร์รีหากไม่มีลูกค้ามารับหรือไม่มีตลาดที่จะกระจายสินค้าออกไปจะไม่สามารถขายได้แน่นอน เพราะเป็นผลไม้ที่คนยังรู้จักน้อย กลุ่มลูกค้าค่อนข้างจำกัด เป็นกลุ่มคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ต้องจับตลาดให้ถูก โดยกลุ่มลูกค้าที่สนใจจะเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยเฉพาะผู้หญิง หรือควรขายตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล”
ส่วนแนวทางการพัฒนาและต่อยอดในอนาคตนั้น คุณฐิติมามองว่า
“อยากทำตรงนี้ต่อไปให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องการขยายพื้นที่ปลูกออกไปนั้นยังไม่ได้คิดเพราะเรายึดหลักพอเพียงตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่ามีความมั่นคงพอสมควร แล้วยังมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น ม.เกษตร กำแพงแสน รวมทั้งโครงการหลวงต่าง ๆ มีงานให้ออกขายสินค้าตลอด ถือว่ายังดำเนินธุรกิจไปได้สวย คิดว่าจะสานต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ที่สวนยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Facebook : สวนพ่อสุรวุฒิ โทร.08-5179-9239
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษา Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สายด่วน 1333
source: bangkokbanksme.com/article/10566