data-ad-format="autorelaxed">
สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “กระท้อน” ก็เป็นไม้ผลเงินล้านได้ เฉกเช่นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะทำคุณภาพได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
ตลอดเดือนกรกฎาคมของทุกปีถือเป็นสวรรค์ของคนที่ชอบรับประทานกระท้อน เพราะ กระท้อน ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนนี้ โดยแหล่งปลูกกระท้อนที่สำคัญในอดีตคือจังหวัดนนทบุรี มีสายพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า 6 สายพันธุ์ ได้แก่
– พันธุ์ทับทิม
– ปุยฝ้าย
– นิ่มนวล
– ปุยไหม
– เทพศิริ
– อีล่า
ทั้ง 6 สายพันธุ์ดังที่กล่าวมานี้ พันธุ์ปุยฝ้ายและพันธุ์นิ่มนวลเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด เพราะมีผลขนาดใหญ่และจำหน่ายได้ราคา
โดยหากเป็น พันธุ์นิ่มนวลเมืองนนท์แท้ ๆ จะจำหน่ายได้ตั้งแต่กิโลกรัมละ 120 บาทขึ้นไป ปัจจุบันเกษตรกรที่ทำสวนกระท้อน ทั้งประเทศไทยมีไม่ถึง 100 ราย เนื่องจากกระท้อนไม่ใช่ผลไม้ในกระแสของการบริโภค จึงทำให้เกษตรกรหลายคนไม่สนใจปลูกเพราะเห็นว่าขายไม่ได้ราคา แต่จริง ๆ แล้ว กระท้อนไม่ใช้ผลไม้กะโหลกกะลาไร้ราคาอย่างที่คิด ยิ่งหากได้เติมคุณภาพลงไป ก็ยิ่งเป็นผลไม้เงินล้านที่ไม่ควรมองข้าม เพราะตลาดมีความต้องการสูงและคู่แข่งยังน้อย
คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ เกษตรกรคนเก่ง ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เจ้าของสวนกระท้อน “อุบลสมบูรณ์” เผยถึงที่มาของการปลูกกระท้อนบนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ ในจังหวัดระยอง ให้ฟังว่า เกษตรกรในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้เศรษฐกิจหลัก ๆ 3 ชนิด คือ เงาะ มังคุด และทุเรียน พอถึงฤดูกาลผลไม้ของทุกปี ราคาผลผลิตของผลไม้ทั้งสามชนิดก็จะมีปัญหาทุกปี เพิ่งมาสองสามปีหลังนี้ ที่เริ่มทำมังคุดส่งนอกจึงได้ราคาขึ้นมา
“ด้วยความผันผวนของราคาผลไม้นี่เอง ผมก็เลยมองว่า เราควรจะปลูกอะไรที่สวนกระแสจากชาวบ้านคนอื่น ๆ พอดีว่าที่หมูบ้านเรามีกระท้อนอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งคุณลุงพูนแกไปซื้อลูกมาจากจังหวัดนนทบุรีมารับประทาน พอทานเสร็จท่านเห็นว่ากระท้อนลูกนั้นรสชาติอร่อย จึงนำเมล็ดกระท้อนลูกนั้นไปปลูก ผ่านไปประมาณ 5 ปี กระท้อนต้นนั้นเติบโต ติดดอกออกผล ซึ่งผมได้กินแล้วก็เห็นว่า กระท้อนจากต้นนี้มีคุณลักษณะพิเศษคือ เนื้อนุ่ม หวาน เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นปุย หวาน มีเนื้อมาก เมล็ดเล็ก เมื่อได้ชิมแล้วรู้สึกถูกใจจึงขอกิ่งพันธุ์มาปลูก และตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้เป็นเกียรติแก่ลุงพูนว่า กระท้อนพันธุ์ทองพูน”
คุณสมชาย ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนแรกผมปลูกเพียง 40 ต้น ตอนนั้นยอมรับว่าไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกระท้อนมากสักเท่าไหร่ เพราะถือเป็นไม้ผลชนิดใหม่ของชาวสวนละแวกนี้ เมื่อกระท้อนอายุได้ 3 ปี ก็เริ่มออกผลผลิต ด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์จึงไปจ้างคนมาห่อกระท้อน ผลปรากฏว่าเราได้กระท้อนที่จำหน่ายได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเสียหายทั้งหมด เพราะลูกจ้างไม่ได้ใส่ใจคุณภาพให้เรา สักแต่ว่าทำงานเพื่อให้ได้ค่าแรงเท่านั้น ในตอนหลังจึงตัดปัญหาดังกล่าวนี้ออกด้วยการใช้แรงงานคนในครอบครัวและลงมือทำเองทั้งหมด เพราะเราสามารถควบคุมคุณภาพได้
ผลผลิตในช่วงนั้นเราเอาไปขายในอำเภอแกลง ได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท จากนั้นก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรนะจึงจะให้ผลผลิตของเราได้ราคา พอดีตอนนั้นมีเพื่อนทำงานอยู่ที่ TOT แจ้งวัฒนะ เพื่อนก็แนะนำให้เอาผลผลิตใส่รถกระบะไปขายที่นั่น เราก็เลยนำไปขายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท
(ตอนนั้นราคากระท้อนเมืองนนท์กิโลกรัมละ 120 บาท) หลังจากนั้นเป็นต้นมาผลผลิตกระท้อนของที่สวนก็จะส่งไปขายที่นั้นทั้งหมด
“ปัจจุบันเราแทบไม่ต้องเอาผลผลิตไปขายแล้ว เพราะเมื่อถึงฤดูกระท้อน คนที่เขาเคยรับประทานกระท้อนของเราก็จะออร์เดอร์กันมาเลย เมื่อเราเริ่มมองเห็นแนวทางการตลาด ก็เลยมาปลูกเพิ่ม จนกระทั่งปัจจุบันที่สวนมีกระท้อนที่ให้ผลผลิตแล้วทั้งหมด 178 ต้น และกำลังปลูกเพิ่มอีก 45 ต้นครับ”
เทคนิคการปลูกกระท้อนของ คุณสมชาย
อย่างแรกเลยให้คำแนะนำว่า ธรรมชาติของกระท้อนเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย โตเร็ว และไม่ต้องมีตารางฉีดยาให้ปุ๋ยเช่นไม้ผลชนิดอื่น หากเกษตรกรที่สนใจปลูกกระท้อนเพื่อการค้า ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
– สายพันธุ์ที่ปลูกจะต้องเลือกสายพันธุ์ที่รับประทานอร่อยและตลาดมีความต้องการ ระยะห่างระหว่างแปลงปลูกควรอยู่ระหว่าง 8 x 8 เมตร ซึ่งระยะดังกล่าวนี้กระท้อนจะไม่แย่งกันเจริญเติบโต จึงไม่ต้องตัดแต่งกิ่งบ่อย สามารถปล่อยให้เขาโตตามธรรมชาติได้เลย เนื่องจากกระท้อนเป็นไม้โตเร็ว การบำรุงรักษาจะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ สามารถปล่อยให้โตตามธรรมชาติได้เลย
– เมื่อถึงอายุการให้ผลผลิต ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม กระท้อนจะเริ่มทิ้งใบ และช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มผลิใบอ่อนและเริ่มให้ดอก จากนั้นก็จะเริ่มให้ผล ทันทีที่กระท้อนเริ่มติดผล เราจะต้องทำการฉีดยาสมุนไพรเพื่อป้องกันแมลงมาดูดกินน้ำเลี้ยงผลอ่อน
หากเกษตรกรต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ เราจะต้องทำการห่อผล ซึ่งเทคนิคการห่อผลของสวนนั้นใช้วิธีการสร้างนั่งร้านเช่นเดียวกับงานก่อสร้างไว้รอบ ๆ ทรงต้น เพื่อที่จะห่อผลได้ทุกลูก (นั่งร้านทำจากไม้ไผ่รวก และมีอายุการใช้งาน 2 ปี) โดยใน 1 ต้น ควรจะไว้ลูกเพียง 250-300 ลูก ในอัตราจำนวนดังกล่าวนี้จะทำให้กระท้อนเติบโตเสมอกันทุกลูก โดยจะมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 4-5 ขีดต่อลูก ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดมีความต้องการ และมีราคาค่อนข้างน่าสนใจ แต่หากไว้จำนวนลูกดกกว่านี้ ก็จะได้ขนาดลูกที่เล็กลง และส่งผลให้ขายได้ราคาถูกลงด้วย แต่ถ้าไว้ลูกน้อยเกินไป กระท้อนก็จะมีขนาดผลที่ใหญ่เกินความต้องการของตลาดเช่นกัน
วิธีห่อกระท้อนของ คุณสมชาย
“การห่อผลควรจะเริ่มห่อตั้งแต่กระท้อนมีขนาดเท่าลูกหมาก โดยจะเลือกห่อเฉพาะผลที่มีผิวเนียนเกลี้ยง ส่วนผิวที่มีตำหนิหรือไม่ต้องการควรปลิดผลนั้นทิ้ง เพื่อป้องการลูกที่ไม่เหมาะสมแย่งอาหารและดึงดูดแมลงวันทองเข้าสวน (ลูกกระท้อนที่ปลิดทิ้งสามารถนำมาหมักเป็นฮอร์โมนลูกกระท้อนเพื่อเพิ่มความหวานได้) ทั้งนี้การห่อผลแต่ละรอบควรจะทำตำหนิโดยการป้ายสีที่ถุงกำกับไว้ เช่น ห่อรอบแรกใช้สีส้ม และห่อรอบสองใช้สีเขียว เป็นต้น (ตัวอย่างสมมติ) การป้ายสีกำกับในลักษณะดังกล่าว จะช่วยให้สะดวกตอนเวลาเก็บเกี่ยว เพราะสามารถเลือกเก็บตามรุ่น ตามสีที่ป้ายไว้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเปิดดูทีละถุง”
สำหรับราคาจำหน่ายของกระท้อนที่สวนอุบลสมบูรณ์นั้น แบ่งเป็น 3 เกรด ได้แก่
– เกรดจัมโบ้ ขนาดผลตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท
– เกรดกลาง ขนาดผลตั้งแต่ 4-5 ขีด จำหน่ายกิโลกรัมละ 60 บาท
– เกรดมินิ ต่ำกว่า 4 ขีดลงมา จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท
“เกษตรกรหลายคนมักสงสัยว่า กระท้อนจัมโบ้ได้ราคาดีสุด ทำไมทางสวนจึงไม่เน้นผลิตเฉพาะกระท้อนที่มีขนาดจัมโบ้ ในประเด็นนี้ต้องเรียนให้ทราบว่า ถึงแม้ขนาดจัมโบ้จะขายได้ราคาดี แต่มักจะขายยาก เนื่องจากตลาดไม่นิยมรับประทานกระท้อนที่มีลูกใหญ่มาก ส่วนใหญ่กระท้อนลูกใหญ่จะเป็นของฝากมากกว่าจะซื้อไปรับประทานเอง ดังนั้นในการผลิตกระท้อนเราจึงต้องผลิตตามความต้องการของตลาด คือ 2 ลูกต่อกิโลกรัมกำลังดีครับ”
สำหรับการ ปลูกกระท้อน 178 ต้น บนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ของคุณสมชาย จะมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท / ปี (ต้นทุนสูงสุดอยู่ที่ค่าไม้ไผ่รวกในการทำนั่งร้านเพื่อห่อผลและเก็บผลผลิต ส่วนค่าปุ๋ยและยานั้นต่ำมาก)
จำนวนพื้นที่ปลูกดังกล่าวได้น้ำหนักผลผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 13 ตัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “กระท้อน” ก็เป็นไม้ผลเงินล้านได้ เฉกเช่นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะทำคุณภาพได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเรียนรู้การปลูกกระท้อนเพื่อการค้าเงินล้าน หรือสนใจกิ่งพันธุ์กระท้อนหวาน รับประทานอร่อย “พันธุ์ทองพูน” รวมถึงผลผลิตกระท้อน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ เลขที่ 171 หมู่ 3 ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง โทร. 08-1377-9536
source: news.mthai.com/economy-news/agriculture/452969.html