data-ad-format="autorelaxed">
รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรต้อง 4.0 เช่นกัน...การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในแผนงานที่จะก้าวเดินไปสู่จุดนั้น
แต่ถ้ามัวแต่พึ่งจมูกคนอื่นหายใจ คิดแต่ควักเงินซื้อเครื่องจักรกลนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ คงไม่ดีแน่ ภาคเกษตรไทยคงจะเติบโตได้ไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง พึ่งพาตนเองไม่ได้
วันนี้โชคดี ภาคเอกชนไทย บริษัท ตั้งเซียะปิงโลหะกิจ จำกัด อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ออกแบบและผลิตรถตัดอ้อยรุ่นใหม่ SD tech ได้สำเร็จ มีด้วยกัน 2 รุ่น ขนาด 250 แรงม้า มีประสิทธิภาพตัดอ้อยได้ชั่วโมงละ 30 ตัน รุ่น 300 แรงม้า ตัดได้ชั่วโมงละ 60 ตัน ประสิทธิภาพไม่แพ้ของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า 30%ประสิทธิภาพเท่ากัน SD tech รุ่น 300 แรงม้า ราคา 8.5 ล้าน...รถนำเข้า 11-12 ล้านที่สำคัญอึดทนมากกว่า
“วันนี้บ้านเรามีรถตัดอ้อยใช้งานกันอยู่ประมาณ 2,000 คัน ไม่พอต่อความต้องการใช้ เพราะปริมาณแค่นี้รองรับพื้นที่ปลูกอ้อยได้แค่ 30% เท่านั้น และรถจำนวนนี้ 80% นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองจากออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เอามาใช้งานในบ้านเรา มักมีปัญหาเรื่องตัวถัง หรือเฟรม มักจะบิดเบี้ยว แตกร้าว ถ้าโชคดีจะเสียหายแค่ซ่อม เสียเวลารออะไหล่ ตัดอ้อยได้ไม่ทันคิวนัดของโรงงาน แต่ถ้าโชคร้ายเฟรมแตกถึงขั้นถังน้ำมันรั่ว เกิดประกายไฟขึ้นมา รถสิบกว่าล้านถูกไฟเผากลางไร่ ต้องขายเป็นเศษเหล็ก”
ศิริวัฒน์ แดงบุปผา วิศวกรผู้ออกแบบ SD tech ที่คนในวงการยกให้เป็น ปรมาจารย์รถตัดอ้อยเมืองไทย ด้วยมีประสบการณ์มาตั้งแต่ยุคเราเริ่มนำเข้ารถตัดอ้อยจากออสเตรเลียมาใช้เมื่อปี 2535 ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของรถตัดอ้อยนำเข้า เพราะการออกแบบไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่บ้านเรา
ไร่อ้อยต่างประเทศมีการปรับสภาพพื้นที่ให้ราบเรียบ เอารถจักรกลไปใช้งานจึงลื่นไหล ไม่ค่อยมีปัญหา...ต่างจากบ้านเรา ไร่อ้อยไม่ราบเรียบ เป็นลอนลูกฟูกสูงต่ำสลับ เอารถจักรกลมาใช้ รถวิ่งไปพร้อมกับอาการโยกเยก โคลงเคลง กระโดดไปมา ส่งผลให้ตัวถังบิดตัว แตกร้าว
ข้อด้อยในจุดนี้ ศิริวัฒน์ นำมาเป็นโจทย์สร้าง SD tech ให้ตัวถังอึดอดทนต่อสภาพไร่อ้อยบ้านเราโดยเฉพาะ...ออกแบบให้เฟรมเป็นกล่องที่มีโครง มีคาน มีเชสซี เพื่อให้ทนทานบิดตัวได้ยาก และใช้เหล็กสปริงที่ทนแรงบิดตัวได้สูง ไม่เหมือนรถตัดอ้อยทั่วไปที่ใช้เหล็กธรรมดาที่แตกร้าวง่าย
พร้อมออกแบบให้ฐานล้อรับแรงกระแทกขณะทำงาน ย้ายถังน้ำมันให้มาอยู่นอกเฟรม เผื่อเวลาเกิดปัญหาถังน้ำมันรั่วซึมจะได้ซ่อมง่ายและเร็ว...ไม่เหมือนรถฝรั่ง ถังน้ำมันอยู่ในเฟรม เกิดถังรั่วซ่อมได้ยาก
ที่สำคัญออกแบบให้สามารถนำอะไหล่ของรถยี่ห้ออื่นมาใช้แทนได้ ในเมืองไทยหาซื้ออะไหล่ได้ง่าย และออกแบบให้ช่างที่เคยซ่อมรถยี่ห้ออื่นสามารถซ่อม SD tech ได้ โดยไม่ต้องไปอบรมใหม่แต่อย่างใด
นี่เป็นเพียงสรรพคุณข้อดีบางส่วนของรถตัดอ้อยฝีมือวิศวกรไทยแบบพึ่งพาตนเอง...ไม่หวังยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ.
source: thairath.co.th/content/1125940