data-ad-format="autorelaxed">
ธุรกิจภูธรโอด ยอดขายซบสวนทางเศรษฐกิจโต 3.8% จี้รัฐแก้ปัญหา ม.หอการค้าฯชี้ทำเสียโอกาสจีดีพีโต 0.5%
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก.แถลงกลางเดือนตุลาคม ประกาศปรับตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% จากเดิมคาดขยายตัว 2.5-3.5% แม้เวลานี้ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวลดลง แต่ภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ทำให้ภาพรวมยังมีรายได้เพิ่มขึ้น
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข
ข้อมูลดังกล่าวอาจสวนทางข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากสินค้าเกษตรหลักหลายรายการเวลานี้มีทิศทางราคาที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ณ เวลานี้ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้มีแนวโน้มลดลง โดยข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 7,500-7,700 บาท/ตัน แต่หากมีความชื้นสูงเช่น 25% ขึ้นไป ราคาก็จะปรับลดลงอีกเหลือ 5,800-6,000 บาท/ตัน จากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายนข้าวความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 7,800-8,500 บาท/ตัน ขณะที่ต้องจับตาข้าวเปลือกหอมมะลิล็อตใหญ่ของภาคอีสานที่จะทยอยเก็บเกี่ยวหลังนํ้าท่วมในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ว่าจะมีผลผลิตออกมาเท่าไรและราคาจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นราคาข้าวหอมมะลิยังแกว่งตัวเฉลี่ยที่ 9,500-12,000 บาท/ตันขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้น
“ได้คุยกับโรงสีราคาข้าวที่ลดลงช่วงนี้ส่วนหนึ่งมาจากเขามีปัญหาสภาพคล่อง แบงก์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อลดลง ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้รัฐมนตรีเกษตรฯได้เชิญสมาคมชาวนาฯ โรงสี ผู้ส่งออก กรมกองที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องตัวเลขผลผลิตให้ตรงกัน เพื่อวางแผนรับมือเรื่องราคา และแนวทางช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี เบื้องต้นรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560-61(จำนำยุ้งฉาง) เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินรวม 25,038 ล้านบาท”
++ยางต่ำสุดในรอบปี
นายอุดม อมยิ้ม ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ราคายางในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วย ณ ปัจจุบัน(ยางแห้ง 75%) ขายได้ที่ 27.75 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)/ส่วนยางก้อนถ้วยเปียกขายได้ 20 บาท/กก. เป็นราคาที่ตํ่ามาก เกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องเงินก็ต้องจำใจขาย ที่ยังไม่เดือดร้อนมากก็เก็บไว้เพื่อรอจังหวะ เช่นเดียวกับนายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง อ.เมือง จ.ตรัง ที่กล่าวว่า ราคานํ้ายางสดที่เกษตรกรในพื้นที่ขายได้เวลานี้อยู่ที่ 39 บาท/กก.ยางแผ่นรมควัน 45 บาท/กก. ถือเป็นราคา ตํ่าสุดในรอบปีนี้ ผลกระทบนอก จากเกษตรกรมีรายได้ไม่พอรายจ่าย เศรษฐกิจในพื้นที่ยังซบเซา ร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านขายของชำ ร้านข้าวแกง ร้านขายปุ๋ย ยา ร้านขายรถจักรยานยนต์ โชว์รูมรถยนต์ และอื่นๆ ยอดขายลดลงถ้วนหน้า ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
ด้านนางกมลลักษณ์ นามประกาย ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า สกลนคร จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจของสกลนครเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากมีนํ้าท่วมครั้งใหญ่ ผลผลิตข้าว ยางพารา และพืชอื่นได้รับความเสียหาย และแนวโน้มราคาลดลงได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในพื้นที่ทั้งร้านค้าร้านขายรถจักรยานยนต์ มือถือ โชว์รูมรถยนต์ หรือห้างค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ยอดขายก็ลดลงถ้วนหน้า
นายวชิระ ถนัดค้า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้เวลานี้ที่ประมาณ 1.80 บาท/กก.ถือเป็นราคาตํ่ากว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ 1.90 บาท/กก. ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ขอให้โรงงานแป้งมันและโรงงานเอทานอลมาช่วยซื้อ แต่ได้รับความร่วมมือน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่หันไปใช้มันเส้นจากกัมพูชา และลาวที่ถูกกว่าจากมีค่าแรงที่ตํ่า
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีภาวะฝนแล้ง ผลผลิตสับปะรดป้อนโรงงานขาดแคลน ราคาสับปะรดเคยขยับขึ้นไปสูงสุดมากกว่า 10 บาท/กก. ปีนี้ผลผลิตได้เข้าสู่ภาวะสมดุล ทำให้ราคาขยับลงมาเหลือระดับ 3-4 บาท/กก. มีผลให้ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้การส่งออกสินค้ากลุ่มสับปะรดจากสมาชิกสมาคมยังติดลบที่ 4.5% ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง
++เสียโอกาสจีดีพี0.5%
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพีประเทศในภาพรวมถือว่าสัดส่วนไม่มากนัก แต่คนไทย 40% อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ได้ปรับตัวเลขจีดีพีไทยปีนี้จะโตได้ 3.8% จากส่งออกดี แต่ในข้อเท็จจริงหากรายได้ภาคเกษตรดีเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตได้ถึง 4.3% หรือทำให้เราเสียโอกาสไป
สำหรับความช่วยเหลือภาครัฐ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/2561 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2560/2561 วงเงินงบประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลังต่อไป
โดยจะมีการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมหรือรับซื้อ และสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการในอัตรา 4% ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตรา 1% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส.ในอัตรา 3% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันรับเงินกู้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560