data-ad-format="autorelaxed">
5 สินค้าไทยผงาดครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในญี่ปุ่น อีก 13 รายการรั้งอันดับ 2 เอกชนชี้เป้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่น 4% ปีนี้เป็นไปได้ชัวร์ ไก่แปรรูป ข้าว ยาง รถยนต์ มั่นใจยังแรง
จากความสำคัญของญี่ปุ่นนอกจากเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทยแล้ว ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 3 รองจากอาเซียน และจีน โดยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้การค้าไทย-ญี่ปุ่นมีมูลค่า 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 8.1% และนำเข้าจากญี่ปุ่น 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.3%
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ระบุช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มีสินค้าไทย 5 รายการที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (ส่วนแบ่งตลาด 51%),เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (49%), อาหารสัตว์เลี้ยง (26%),นํ้าตาล (49%) และซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (22%) (ดูกราฟิกประกอบ) ขณะที่มีสินค้าไทยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ในญี่ปุ่น 13 รายการ อาทิ อาหาร ทะเลแปรรูป ข้าว ผลไม้กระป๋อง ยางพารา ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เป็นต้น
ฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ
นางฉวีวรรณ คำพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ญี่ปุ่นยังมีการนำเข้าสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปจากไทยต่อ เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน ผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 7 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกสินค้าไก่ 4.4 แสนตัน ในจำนวนนี้ส่งออกไปญี่ปุ่น 2.2 แสนตันเพิ่มขึ้น 16%) ขณะที่เวลานี้สินค้าไก่ของคู่แข่งขัน เช่น บราซิลมีปัญหาเรื่องคุณภาพทำให้ญี่ปุ่นสั่งซื้อลดลง ส่วนฟิลิปปินส์มีไข้หวัดนกสินค้าถูกห้ามนำเข้า จากเงินเยนที่แข็งค่า และเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นในขณะนี้เป็นโอกาสในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าในแต่ละปีญี่ปุ่นมีการนำเข้าข้าวประเภทข้าวขาว และข้าวหักจากไทยภายใต้โควตาขององค์การการค้าโลก(WTO)ปีละประมาณ 2.8-3 แสนตัน (ปี 2559 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทย 3.3 แสนตัน) โดยการนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ซึ่งญี่ปุ่นจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสุราและวิสกี้เป็นหลัก ปัจจุบันราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันได้และเดือนที่เหลือของปีนี้คาดญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น (ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว 1.8 แสนตัน มูลค่า 2,385 ล้านบาท)
ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปญี่ปุ่นยังขยายตัวต่อเนื่อง (7 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 9,639 ล้านบาท ขยายตัว 22%) ส่วนใหญ่เป็นยางรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยที่ส่งออกไป นอกจากนี้มียางวิศวกรรม ยางชิ้นส่วนยานยนต์ และยางที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ คาดในเดือนที่เหลือปีนี้ญี่ปุ่นจะยังมีการนำเข้าในปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนด้านมูลค่าจะสูงขึ้นตามราคายางวัตถุดิบที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปญี่ปุ่นช่วง 7 เดือนแรกยังติดลบ (ส่งออกแล้ว 2.36 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.1%) มองว่าอาจเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าเงินเยน ทำให้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงรถอีโคคาร์ซึ่งเป็นรถหลักที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยอาจมีการเปลี่ยนรุ่นทำให้ชะลอนำเข้า แต่คาดในเดือนที่เหลือญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าเพิ่ม และทำให้ตัวเลขพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ส่วนกรณีที่ทัพนักลงทุนญี่ปุ่นเยือนไทยกว่า 500 รายครั้งล่าสุด เชื่อว่าจะมีการลงทุนด้านรถยนต์และชิ้นส่วนในไทยเพิ่มขึ้น และจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ต่อเป้าหมายการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าขยายตัวที่ 4% ภาคเอกชนระบุมีความเป็นไปได้สูง หลัง 7 เดือนแรกขยายตัวแล้วกว่า 8%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560