data-ad-format="autorelaxed">
สสส.หนุนขนมไทยอ่อนหวาน ปล่อยเมนูใหม่ “ฝอยทองหญ้าหวาน” ลดน้ำตาล 50% ชู“กระยาสารทหวานน้อย” ขายดีนำร่องโอทอป อร่อยลดน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 15-20% กระตุ้นคนไทยบริโภคน้ำตาลน้อยลง ด้าน ส.โภชนาการฯแนะประชาชนใส่ใจอ่านฉลากบริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง
สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่าย เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคขนมไทยเพื่อสุขภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการยังขายของได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินและวิธีการใช้ชีวิต และเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ วิธีการรับประทานอาหารอย่างสมดุลไม่กินรสจัดจนเกิดไป ลดหวาน มัน เค็มอย่างละครึ่งจะช่วยให้คนไทยห่างไกลจากโรค NCDs ทั้งนี้ สสส.ร่วมมือกับโครงการ ส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP เพื่อสุขภาพ นอกเหนือจากเงินทุนในการดำเนินโครงการเบื้องต้น ยังสนับสนุนองค์ความรู้ ทั้งด้านงานวิจัย ผ่านทางผู้จัดการโครงการ สถาบันการศึกษาและภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังประสานความร่วมมือ เสริมกระบวนการและช่วยสื่อสารเพิ่มเติมด้านการสื่อสารและโภชนาการ
“ในอาหารไทยทั้งหลายมีรสหวานจัด มัน และเค็ม แต่สิ่งหนึ่งที่พบก็คือขนมหวานของไทยซึ่งเป็นโอทอปส่วนใหญ่ สามารถปรับกรรมวิธีการปรุงให้ลดความหวาน ลดน้ำมันได้ โดยรสชาติแทบจะไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ซึ่งจ.ฉะเชิงเทรา ก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลของการพัฒนาสูตรขนมไทยที่ลดหวานในขนมได้ เราต้องให้ผู้ประกอบการรู้และตระหนักถึงปัญหา ที่สำคัญคือรู้ว่าสูตรเปลี่ยนแล้วขายได้ เพราะความกังวลของผู้ขายคือกลัวว่าลดความหวานลงแล้วขนมจะขายไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเทรนด์ของรักสุขภาพมากขึ้น จึงได้ทำการปรับปรุงเพิ่มสูตรอ่อนหวาน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตระหนักในการดูแลรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานขนมไทยหวานน้อยดีต่อสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายทางภาษีที่จะเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลออกมาเพื่อทำให้ประชาชนลดการบริโภคหวานด้วยอีกทางหนึ่ง” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้านนางสาวเพลินพิศ หาญเจริญวนะภูษิต ผู้จัดการโครงการ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสดุา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP เพื่อสุขภาพ เป็นโครงการที่สมาคมฯได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้ดำเนินครอบคลุมโภชนาการทั้ง 3 ด้านคือ ลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ โดยเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมไทยที่มีส่วนผสมที่เป็นแป้งและน้ำตาลและเป็นของทอด หน้าที่ของโครงการคือให้ความรู้กับผู้ผลิตอาหารโดยเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอาชีวะศึกษา กับผู้ประกอบการโอทอปในท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากครูและนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดหวาน เค็ม ของขนมลดลง แล้วเชิญผู้ประกอบการมาชิมและให้ความเห็นต่อผลงานของวิทยาลัย ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาปรับลดความหวาน เค็มลง แต่ยังคงรสชาติที่ดี เพื่อเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดน้ำตาลในขนมไทยได้โดยเฉลี่ยประมาณ 15-20%”
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนมไทยเข้าร่วมโครงการในภาคกลาง เช่น จ.สระบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม อ่างทอง เป็นต้น โดยมีร้านริน ขนมไทย ผู้นำธุรกิจขนมหวานของ จ.ฉะเชิงเทรา นำมาทดลองครั้งแรกกับการพัฒนาสูตรกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมที่ขายดีที่สุดในร้านให้เป็นสูตรหวานน้อย โดยผู้ประกอบการเลือกลดปริมาณน้ำอ้อยลง ผลปรากฏว่าสามารถลดระดับความหวานได้มากถึง 25% ต่อมาก็มีการพัฒนาข้าวตังหน้างาสูตรหวานน้อย แนวคิดของโครงการพยายามที่รสชาติของผลิตภัณฑ์มีรสหวาน เค็มลดลง แต่ผลิตภัณฑ์บางชนิดจำเป็นต้องหวาน ร้านรินขนมไทย ได้ใช้สารให้ความหวานทดแทนอย่างหญ้าหวานในเมนูฝอยทองซึ่งลดน้ำตาลได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับสูตรต้นตำรับ ถือเป็นอีกเมนูที่ได้รับความนิยม ทำให้ผู้ซื้อที่รักสุขภาพจะได้รับน้ำตาลน้อยลงในขณะที่ยังรักษาคุณภาพและรสชาติของขนมไทยดั้งเดิมได้ครบถ้วน"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำฉลากโภชนาการเป็นข้อมูลโภชนาการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการคำนวณว่าในมื้อต่อไปเราจะกินได้เท่าไหร่ ตอนนี้เราให้ความรู้ผู้ผลิตในเรื่องของการผลิตขนมเพื่อสุขภาพ และตระหนักถึงความสำคัญของหวาน มัน เค็ม สนับสนุนในการพัฒนาสูตร ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นคนพัฒนา เราเป็นเพียงผู้จุดประกาย ให้คำแนะนำ และทดลองตลาด ซึ่ง จ.ฉะเชิงเทราเขาเป็นรายแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรายอื่นในการทำขนมไทยที่ลดปริมาณน้ำตาล และยังขายดี
source: siamrath.co.th/n/23375