data-ad-format="autorelaxed">
“ตลาดกลางข้าวสาร” ส่อเค้าล่ม กรมการค้าภายในสั่งเบรกการเจรจารอบ2 “บิ๊กตลาดต่อยอด” อ้างถูกตัดงบประมาณหลังต่อรอง”ตลาดไท”แล้ว เอกชนหวั่นสะเทือน ราคานาปีดิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้ว ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์โครงการส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสมัคร 3 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มตลาดไท ของบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด 2) กลุ่มทุนของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และบริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าข้าวเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี และ 3) กลุ่มตลาดตะวันนา ของบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และได้กำหนดให้ผู้ประกอบการแต่ละรายแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะทำงาน ซึ่งมีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน รอบแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และแจ้งว่าจะประกาศผลการคัดเลือกบนเว็บไซต์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560
แต่หลังจากนั้น นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีนางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน นัดผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 2 ราย คือ ตลาดไท และตลาดตะวันนา ให้กลับมาเจรจาต่อรองในรอบ 2 แต่มีการเลื่อนนัดอีกหลายครั้ง
กระทั่งวันที่ 4 กันยายน 2560 ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการ “ตลาดไท” ซึ่งมีนายโชคชัย คลศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด เข้ามาแสดงข้อมูลเพิ่มเติ่ม จากนั้นมีนัดหมาย “ตลาดตะวันนา” เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์รอบ 2 ในวันที่ 11 กันยายน 2560 แต่ก่อนถึงวันนัด กรมการค้าภายในได้แจ้งเลื่อนอีกเป็นวันที่ 14 กันยายน จากนั้นแจ้ง “ยกเลิก” การแสดงวิสัยทัศน์ของตลาดตะวันนารอบ 2 โดยมีการให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการแล้ว อาจจะต้อง “ยกเลิก” โครงการ
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังกรมการค้าภายในอีกครั้ง แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า การเจรจารอบ 2 กับผู้ประกอบการเป็นกระบวนการปกติ ทางกรมการค้าภายในต้องการให้เอกชนนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะสามารถพัฒนาโครงการอย่างไรให้ดีขึ้นจากรอบแรก ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณา ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไร
แหล่งข่าววงการค้าข้าวโดยเฉพาะกลุ่มโรงสีซึ่งสนับสนุนการตั้งตลาดกลางข้าวสารมองว่า ตลาดไทมีความได้เปรียบในทุกด้าน เพราะมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจตลาดสินค้าเกษตรมายาวนาน เป็นที่รู้จักในวงการเกษตร และมีเครือข่ายมากมายตรงกับหลักเกณฑ์ทุกอย่างตามทีโออาร์ แต่อาจไม่ถูกใจ “ผู้ใหญ่” เพราะมีแผนสนับสนุนอีกรายมากกว่าหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกโครงการนี้อาจกระทบต่อภาพรวมตลาดข้าวในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ปี 2560/2561 อาจจะปรับตัวลดลง เพราะกลไกที่ภาครัฐวางไว้ เพื่อเพิ่มช่องทางการทำตลาดข้าวสารไม่สามารถทำได้ เท่ากับต้องทำการค้าปกติ ซึ่งโรงสีที่มีจำนวนมากต้องไปแย่งขายให้กับผู้ส่งออกที่มีไม่กี่รายเหมือนเดิม
สำหรับที่มาของโครงการส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศจีน เมื่อวันที่ 7-12 ธันวาคม 2559 และได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมตลาดกลางข้าวสารในประเทศจีน จึงมีเป้าหมายจะจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารในประเทศไทย เพราะมองว่าไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีการส่งออกปีละ 9-10 ล้านตันควรจะมีตลาดกลางข้าวสารเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวสารจากระบบปกติ จึงได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560
หลักเกณฑ์กำหนดให้ทำทั้งในรูปแบบตลาดจริงและออนไลน์ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ดำเนินการจำหน่ายสินค้าไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ ต้องจัดหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก และบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล เอกชนต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นที่รู้จัก มีสถานที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง และต้อง “รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด” ส่วนภาครัฐจะสนับสนุนเรื่องครุภัณฑ์และอุปกรณ์ กิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดเท่านั้น
source: prachachat.net/economy/news-44158