data-ad-format="autorelaxed">
ผมได้รับบทความจาก ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ และคณะ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยมีการชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มมูลค่าและกำไรให้แก่ชาวนาไทย ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ โดยอ.เกรียงไกรท่านว่า ไว้อย่างนี้ครับ
อดีตที่ผ่านมา สมัยการค้าสินค้าเกษตรยังไม่มีความซับซ้อน เกษตรกรไทยมักเลือกปลูกพืชที่ขายได้ราคาดี ขณะที่การขึ้นลงของราคาก็เป็นไปตามปริมาณผลผลิตในตลาด ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบก็มีเพียงภัยธรรมชาติและโรคระบาด แต่ปัจจุบันตลาดมีความซับซ้อนขึ้น มีการส่งออกไปถึงต่างประเทศ ราคาสินค้าจึงผันแปรไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด นอกจากนี้ปัญหาขาดความรู้ด้านการตลาด สถานการณ์ ทิศทางการค้า อุปสงค์อุปทานโดยรวมของทั้งโลก ก็เป็นปัญหาสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของเกษตรกร และการกำหนดนโยบายและการวางยุทธศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อกำหนดต้นแบบ และยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพูนข้อมูลความรู้ทิศทางการตลาดการค้าสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์
ในบทความนี้ได้พูดถึง “โซ่คุณค่า” (Value Chain) ของข้าว ผลผลิตและผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการสีข้าว พร้อมข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงมูลค่าของผลผลิตและผลพลอยได้ที่ได้จากการสีข้าว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าในการขายต่อไป
โดยการสีข้าว (Rice Milling) เป็นขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้นของข้าวเปลือก ให้ได้เป็นข้าวสาร หรือข้าวกล้อง เพื่อนำไปรับประทานหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีขั้นตอนหลักดังนี้
1.การทำความสะอาดข้าวเปลือก เพื่อแยกสิ่งแปลกปลอม เช่น ฟาง กรวด ทราย ออกจากข้าวเปลือก โดยใช้อุปกรณ์ คือ “ตะแกรงร่อน” ช่วยแยกสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีตะแกรงแยกเมล็ดซึ่งจะใช้ลมมาช่วยเป่าสิ่งเจือปนที่มีขนาดใกล้เคียงกับข้าวเปลือก แต่มีน้ำหนักเบากว่าออกไป
2.การกะเทาะเปลือก เป็นการแยกเอาเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งเรียกว่า แกลบ (husk) ออกจากเมล็ดข้าว ในขั้นตอนนี้จะใช้เครื่องกะเทาะ (Huller) โดยอาศัยการเสียดสีกะเทาะให้แกลบหลุดออกจากตัวเมล็ดข้าว ข้าวที่ได้จากขั้นตอนนี้เรียกว่า “ข้าวกล้อง” จากนั้นจึงแยกแกลบและข้าวเปลือกยังไม่ถูกกะเทาะออกจากข้าวกล้อง ซึ่งแกลบเป็นผลพลอยได้จาการสีข้าว อาจนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือใช้รองพื้นโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ได้
3.การขัดขาวและขัดมัน (Whitening and Polishing) เป็นการขัดชั้นรำที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดออกจากข้าวกล้อง และขัดมันให้ผิวเรียบเป็นเงาสะอาด รำข้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากขั้นตอนนี้ประกอบด้วยเยื่อหุ้มเมล็ด คัพภะ มีไขมันสูง สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันรำข้าวได้
4.การคัดขนาดข้าวสาร ใช้ตะแกรงขนาดที่มีรูเปิดที่มีความยาวแตกต่างกัน เพื่อแยกข้าวสารเต็มเมล็ดต้นข้าว (Head Rice) ออกจากข้าวหัก และปลายข้าว โดยปลายข้าวนั้นจะมีความยาวประมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6/8 ของความยาวเมล็ดเต็ม
ข้าวที่ได้จากการสีแล้วสามารถนำมารับประทานได้โดยตรง หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการขาย โดยการเพิ่มมูลค่าของข้าวได้แสดง ซึ่งตัวอย่างหนึ่งในการนำส่วนที่ได้จากข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำปลายข้าว (ราคา 12.50 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำเป็นแป้งข้าว จะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 32 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 156
หากมีการนำรำข้าว (ราคา 7.50 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำน้ำมันรำข้าว จะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 57.55 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 667 และหากมีการนำแกลบ (ราคา 1.20 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำเป็นเชื้อเพลิงจะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1.46 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21
ดังนั้นหากเกษตรกรหรือชาวนาไทยมารวมกลุ่มและมีการลงทุนต่างๆ ร่วมกัน เช่น ลงทุนซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ก็จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรนำสินค้าหลายอย่าง เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ ไปเพิ่มมูลค่าและขายสร้างกำไรได้
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ในระดับของเกษตรกรเท่านั้นนะครับที่ได้ประโยชน์ หากในระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยนำไปคิดไปอ่านทำกันต่อ ก็ยิ่งน่าจะทำกำไรได้มากพอสมควรทีเดียว
source: naewna.com/local/295803