data-ad-format="autorelaxed">
กระทรวงดิจิทัลฯ เผยล่าสุดติดตั้งโครงข่าย “เน็ตประชารัฐ” แล้วกว่า 18,000 หมู่บ้าน มี 16 จังหวัดติดตั้งครบทุกหมู่บ้านเป้าหมายแล้ว มั่นใจการทำงานเร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนด พร้อมเร่งสร้างการรับรู้-ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนใช้ประโยชน์ทุกด้านอย่างคุ้มค่า
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายนำพาประเทศก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ผลักดันให้เกิดโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “เน็ตประชารัฐ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งบริการภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร สร้างโอกาสที่ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง 24,700 หมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งได้วางแนวทางการทำงานและกรอบเวลาดำเนินการไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดจำนวนการติดตั้งในแต่ละเดือนเพื่อสร้างกรอบเวลาในการทำงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย และด้วยการให้ความสำคัญของรัฐบาล ทำให้การดำเนินการติดตั้งรุดหน้าไปมากกว่าที่กำหนดไว้ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 มีการติดตั้งแล้วเสร็จถึง 18,916 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคเหนือ ติดตั้งแล้ว 3,125 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 1,287 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 4,412 หมู่บ้าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตั้งแล้ว 10,436 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 3,032 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 13,468 หมู่บ้าน ,ภาคตะวันออก ติดตั้งแล้ว 1,147 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 407 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 1,554 หมู่บ้าน ,ภาคกลาง ติดตั้งแล้ว 1,548 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 541 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 2,089 หมู่บ้านล ,ภาคใต้ ติดตั้งแล้ว 2,605 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 492 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 3,097 หมู่บ้าน และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดตั้งแล้ว 55 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการติดตั้ง 25 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 80 หมู่บ้าน
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
ส่วนมีจังหวัดที่ได้รับการติดตั้งครบตามจำนวนหมู่บ้านเป้าหมายแล้วทั้งหมด 16 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชลบุรี นครศรีธรรมราช บึงกาฬ พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยโสธร ระนอง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรีหนองคาย อ่างทอง และอำนาจเจริญ
นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนั้นกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้จัดทำแผนสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ในระยะแรก 6 เดือนนับจากนี้ (เดือนตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ตลอดจนพันธมิตรภาคเอกชนต่างๆ ดำเนินงานสร้างการรับรู้และการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดอบรมให้ความรู้ การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และใช้ประโยชน์ การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ ฯลฯ
เบื้องต้นจะมีการจัดอบรมเครือข่ายวิทยากรแกนนำผู้สร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐ ประมาณ 200 คน เพื่อให้นำข้อมูลความรู้ที่ได้รับไปสร้างวิทยากรแกนนำระดับอำเภอ ประมาณ 872 คน และวิทยากรแกนนำระดับตำบล อีกประมาณ 7,424 คน รวมทั้งขยายผลไปยังเครือข่ายกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 24,700 คน เพื่อทำหน้าที่ขยายผลต่อไปยังประชาชนทุกคนในชุมชนของตนเองรวมกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ให้ได้รับรู้และสามารถใช้ประโยชน์จาก เน็ตประชารัฐอย่างคุ้มค่าและเต็มศักยภาพ สำหรับหัวข้อการอบรม ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับเน็ตประชารัฐและการเชื่อมต่อ การใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น การสืบค้นข้อมูล การสมัครอีเมล/เครื่องมือการสื่อสาร การขายสินค้าออนไลน์ การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แนะนำแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร การศึกษา การส่งเสริมสุขภาพ บริการภาครัฐ ข้อมูลข่าวสารชุมชน ฯลฯ
ทั้งนี้ เมื่อการติดตั้งครอบคลุมครบทุกหมู่บ้านเป้าหมาย จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกัน และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งการนำระบบ e-Commerce สู่ชุมชน เกิดการสร้างงานนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ส่งผลให้การรักษาพยาบาลทั่วถึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบ e-Learning เพื่อสร้างการเรียนรู้และการรับข้อมู/ลข่าวสารจากทั่วทุกที่ให้กับชุมชน รวมถึงบริการภาครัฐ e-Government เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ของประชาชน ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชนต่อไป
source: siamrath.co.th/n/24749