data-ad-format="autorelaxed">
ประเด็นร้อนต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ...ที่ยกร่างขึ้นใหม่เพื่อจะใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ที่กรมวิชาการเกษตรผู้ยกร่างฯกับมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ที่มองต่างมุม โดยสงวนจุด ร่วมยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ความจริงจะเป็นอย่างไร ใครได้-ใครเสีย รวมถึงบางประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียง ทำให้กรมวิชาการเกษตรต้องขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นออกไปจากจะสิ้นสุดวันที่ 20 ตุลาคมเป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้รายงานพิเศษถึงมุมมองที่แตกต่างของผู้มีส่วนได้-เสียต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ทั้งเอกชน ราชการ และกลุ่มเอ็นจีโอ ดังนี้
ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย
**ยันไม่กระทบเกษตรกร
ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ เป็น การคุ้มครองการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญาให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในการปรับปรุงพันธุ์พืชจนได้เป็นพันธุ์พืชใหม่และนำมาจด ทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้
“ประเด็นการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ และการใช้พันธุ์พื้นเมืองทั่วไปมักจะถูกนำมาบิดเบือนสร้างความสับสนให้กับสาธารณะ เช่น เป็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้บริษัทเอกชน/เกษตรกรมีความผิดติดคุก หากเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกต่อ และการหลีกเลี่ยงไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน ทางสมาคมขอยืนยันว่าไม่จริง ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดสิทธิเกษตรกรหรือประชาชนคนใดในการเก็บพันธุ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ และ
ถึงแม้ว่าจะเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ตาม พ.ร.บ.นี้ เกษตรกรก็มีสิทธิเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ไปปลูกรุ่นต่อๆไปได้”
ส่วนเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย เพราะพันธุ์พืชชนิดเดียวกันกับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอีกมากมาย ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพันธุ์พืชใหม่ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีพันธุ์แตงกวา กว่า 100 พันธุ์ หากนาย ก.ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่และได้รับอนุมัติให้เป็นแตงกวาพันธุ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.นี้ อีกหนึ่งพันธุ์ เกษตรกรก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเลือกใช้พันธุ์ใหม่ของนาย ก. เกษตรกรสามารถเลือกซื้อพันธุ์แตงกวาจากหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา หรือบริษัทต่างๆ ได้ตามความพอใจ
**เหตุต้องเป็นสมาชิกUPOV
ดร.ชัยฤกษ์ กล่าวอีกว่า การเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV 1991) จะทำให้พันธุ์พืชไทยที่ส่งไปขายในประเทศภาคีสมาชิก (72 ประเทศ) ได้รับการคุ้มครองพันธุ์ที่ไทยได้พัฒนาขึ้น หากไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองพันธุ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนเรื่องระยะเวลาการคุ้มครองได้รับการขยายต่อไปยาวนานจนกลายเป็นการผูกขาดที่นานเกินไป ในเรื่องนี้ถือเป็นความจำเป็น เพราะการพัฒนาพันธุ์ต้องใช้ทั้งทุนทรัพย์ เวลา และความทุ่มเทของนักปรับปรุงพันธุ์ สิทธิตัวนี้ควรเป็นของนักปรับปรุงพันธุ์ ที่ต้องได้รับผลตอบแทนไปตลอดเหมือนกับค่ายเพลง ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย(BioThai)
**โต้กรมแจงไม่หมด
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย(BioThai) กล่าวว่า จากที่กรมวิชาการเกษตรได้แถลงออกมานั้นเป็นการอธิบายคนละมุม ชี้แจงไม่หมด ยกตัวอย่างในกรณีที่อ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชได้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในร่างพ.ร.บ.มาตรา 35 จะระบุข้อความว่า “เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง”
แต่ทั้งนี้กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อท้ายว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกร
ที่จะเอาไปปลูกต่อโดยสามารถจะจำกัดได้บางส่วน หรือทั้งหมด” นี่เป็นสิ่งที่ UPOV 1991 ประเทศสหรัฐอเมริกาและบริษัทยักษ์ใหญ่ผลักดันมาโดยตลอด ที่จะจำกัดพันธุ์และปริมาณที่จะไปขยายต่อ ทั้งนี้หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านจะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญการแก้กฎหมายฉบับนี้ควรจะปรับแก้เป็นรายมาตรา ไม่ใช่ทั้งฉบับ
**เปิดทางบรรษัทผูกขาด
ส่วนการขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น จากเดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี
“ไบโอไทย ยังมีงานวิจัยที่นักวิชาการได้ศึกษาผลกระทบไว้จากร่าง พ.ร.บ.นี้ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ประเทศไทยสูญเสียอิสระในการกำหนดนโยบายคุ้มครองพันธุ์ 2. บรรษัทยึดครองตลาดพันธุ์พืช 3. กระทบความมั่นคงทางอาหาร 4. เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์ราคาแพง และ 5 ลดทอนกลไกการจัดการทรัพยากรชีวภาพ”
สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
**กรมยํ้าไม่เสียประโยชน์
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้เป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับข้อมูลของ
อนุสัญญา UPOV 1991 แต่ยังมิใช่เป็นการขอความเห็นชอบในการเป็นภาคี UPOV 1991 เนื่องจากเป็นแนวทางปฏิบัติที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้อยู่ ส่วนการตัดสิทธิของเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อนั้นได้ไปใส่ไว้ในมาตรา 35 เพื่อให้เกิดความชัดเจน ยืนยันว่าเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษ ส่วนการขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทออกไปตาม UPOV 1991 โดยขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชออกไปจาก 12-17 ปี เป็น 20-25 ปีแล้วแต่กรณี (ยกเว้นพืชที่ให้เนื้อไม้)
“สาเหตุขยายเวลาการคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิมพืชล้มลุก 12 ปี เป็น 20 ปี พืชไม้ผลยืนต้นจาก 17 ปีเป็น 25 ปี และพืชให้เนื้อไม้จาก 27 เป็น 25 ปี นั้นเนื่องจากในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ที่ดีมีศักยภาพออกสู่ตลาดจำเป็นต้องใช้ทุนทั้งสติปัญญาเวลาและงบประมาณ ที่สำคัญจะทำให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560