data-ad-format="autorelaxed">
นายกสมาคมชาวนาฯ ย้ำจุดยืน! ห้ามเก็บเงิน ขณะล่ารายชื่อ 10 จังหวัด เอาคืนรัฐเรียกค่าเสียหายใช้ที่นาทำแก้มลิง ... กลุ่มอีสท์วอเตอร์ชี้! เก็บ 3 บาท/ลบ.ม. กระทบใช้น้ำดิบรวม 30 ล้าน ลบ.ม. ... วิป สนช. ยกประวัติศาสตร์ ร่าง พ.ร.บ. ส่อถูกตีตกสูงขยายเวลาพิจารณารอบ 4
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ต้องขยายเวลาพิจารณาออกไปอีกรอบ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เฉพาะอย่างยิ่งจากชาวนา กรณีที่จะมีการออกกฎหมายลูกเรียกเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรที่ปลูกข้าวเกิน 50 ไร่ ที่ถูกระบุเป็นข้าวเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงพืชเกษตรและปศุสัตว์ต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 สถานีข่าวสปริงนิวส์ร่วมกับ “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ชำแหละกฎหมายทรัพยากรน้ำ : ประชาชนรับกรรม?” สรุปประเด็นสำคัญจากทั้งในและนอกเวที ดังนี้
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามร่าง พ.ร.บ. นี้ มีคำถามจากชาวนาและจากประชาชนทั่วไปว่า จะมีการออกกฎหมายเพื่อเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาสมควรหรือไม่ จากเดิมต้นทุนการใช้น้ำของชาวนา น้ำมาจากธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างไม่ขาดแคลนเสียก่อน ไม่ใช่มาเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากชาวนาก่อน
“การเขียนกฎหมายว่า เราต้องเสียค่าน้ำ ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30-40 ล้านคน ตื่นตระหนกกันทั่งประเทศ เพราะมองว่า ไม่สมควร วันนี้กระทรวงเกษตรฯ มาบอกว่า ต้องเสียค่าน้ำ โดยแบ่งผู้ใช้น้ำเป็น 3 ประเภท ที่เราไม่อยากเห็นใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ มีคำว่าเก็บเงินจากเกษตรกร ไม่ว่ามีการใช้น้ำระดับไหนก็ตาม ตัวอย่าง แค่สูบน้ำเข้านา ต้นทุนค่าน้ำมันต่อไร่ก็ตก 400-500 บาทแล้ว มาเก็บค่าน้ำอีก ไม่สมควรอย่างยิ่ง วันนี้ทางรัฐมนตรีเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ยืนยันชัดเจนว่า เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าน้ำแน่นอน หากจะเก็บเราขอให้คว่ำร่างกฎหมาย”
สถานีข่าวสปริงนิวส์ ร่วมกับนสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ชำแหละ กฎหมายทรัพยากรน้ำ : ประชาชนรับกรรม?” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560
… เอาคืนเก็บค่าที่ “แก้มลิง” ...
อย่างไรก็ดี ล่าสุด วันที่ 12 ต.ค. 2560 ทางแกนนำสมาชิกชาวนา 10 จังหวัดภาคกลาง อาทิ พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, ลพบุรี, อ่างทอง ได้มีมติเห็นชอบ หากรัฐบาลจะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ทางเจ้าของที่นาที่มีโฉนดที่ดินถูกต้องจะเรียกร้องคิดเก็บค่าน้ำจากรัฐบาล 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้เสียสละที่นาให้รัฐบาลใช้ทำเป็นแก้มลิงรับน้ำไม่ให้น้ำเข้าเมืองหลวง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ จะต้องสั่งทันทีให้ยกมาตรกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นเกษตรกรเชิงพาณิชย์ออกไปเลย ปัจจุบัน ชาวนากลุ่มนี้ไม่ได้รับการชดเชยในการให้ที่นาทำเป็นแก้มลิง แต่ได้ยอมทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้ง
… อีสท์วอเตอร์กระทบ 10% ...
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ยูยู ผู้ผลิตน้ำประปาแบบครบวงจรในเครือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ภาคเอกชนด้วยกันยังไม่มีการเคลื่อนไหวต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ ที่มีหลักการใครใช้น้ำสาธารณะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของอีสท์วอเตอร์ ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะทำงานภายในเพื่อศึกษาผลกระทบ ข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มอีสท์วอเตอร์ใช้น้ำดิบที่มาจากแหล่งน้ำสาธารณะสัดส่วนรวมกันราว 10% ของการใช้น้ำดิบทั้งหมด หรือมีสัดส่วนรวม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของปริมาณน้ำดิบจากแหล่งต่าง ๆ ที่ทางกลุ่มใช้ต่อปี รวม 377 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำดิบดังกล่าวสัดส่วนอีก 90% จะมาจากแหล่งน้ำชลประทาน เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, อ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง เป็นต้น โดยเสียค่าน้ำดิบให้กรมชลประทาน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. และ 10% หรือปริมาณน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม. จะมาจากแหล่งน้ำสาธารณะ
“การเก็บค่าใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะตาม พ.ร.บ.น้ำ เบื้องต้น จะเก็บภาคอุตสาหกรรม 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือ สูงขึ้น 6 เท่า จากที่เราใช้น้ำจากแหล่งชลประทานในธุรกิจของกลุ่มกระทบ 10% เพราะว่าเราใช้น้ำสาธารณะ ถือว่ากระทบก็ไม่มากนัก ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นก็คงกระทบไปในแต่ละประเภทธุรกิจ เช่น คนที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะในการผลิตจากเดิม ไม่เคยเสีย ก็ต้องเสีย”
… ขยายพิจารณาร่างรอบ 4 ...
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในอดีตตั้งแต่ปี 2534 กฎหมายน้ำมีการยกร่างฯ กันมาหลายฉบับ แต่ครั้นพอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะถูกตีตกตลอด จากประเด็นในเรื่องค่าใช้น้ำ ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ได้พิจารณาถึงมาตราที่ 100 แล้ว แต่ยังไม่รวมในเรื่องประชามติ ล่าสุด วันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ประชุม สนช. ได้มีมติขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ออกไปอีก 90 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 25 ม.ค. 2561 ซึ่งนี้เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 4
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 256