data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้กรมชลประทานทำรายละเอียดโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน เนื่องจากรัฐบาลมีภาระงบประมาณและต้องระวังการใช้เงินหรือการก่อหนี้ของภาครัฐในอนาคต ดังนั้นต้องพิจารณาให้ใช้ประโยชน์สูงสุดและประหยัดงบที่สุด ซึ่งหากโครงการได้รับการอนุมัติต้องใช้เวลามากกว่า 3-5 ปีในการดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นเพราะไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ได้ จึงต้องเร่งในเรื่องการนำน้ำออกทะเล
ทั้งนี้ โครงการที่กรมชลฯ เสนอประกอบด้วย 1.โครงการผันน้ำบางบาลบางไทร ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) ผันน้ำเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ระบายน้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที 2.โครงการคลองระบายน้ำฝั่งตะวันออก (ป่าสัก-อ่าวไทย) ระบายน้ำสูงสุด 600 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 135.9 กม. ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) 3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนตะวันออกรอบที่ 3 ระบายน้ำสูงสุด 500 ลบ.ม./วินาที ระยะทาง 110.85 กม. และ 4.โครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำ 3 แห่งฝั่งตะวันออก ปลายแม่น้ำท่าจีนคืออุโมงค์ผันน้ำคลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ คลองราชมนตรี เนื่องจากเป็นทางระบายน้ำที่คดเคี้ยวทำให้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนออกไปลงทะเลได้ช้า
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ ได้ให้นโยบายบริหารน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยให้คงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ไม่ให้เกิน 2,600 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. ไปอีก 7 วันจากนั้นให้ปรับลดตามสถานการณ์และให้เร่งระบายน้ำเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าหากไม่มีน้ำฝนมาเติมระดับน้ำจะเข้าสู่ตลิ่งภายใน 1 เดือน
source: posttoday.com/biz/gov/521115