data-ad-format="autorelaxed">
“ภาษีที่ดิน” ส่อบานปลาย! สนช. มอบคณะทำงาน 4 ฝ่าย หาทางป้องกันไม่ให้ระบบรวน เตรียมออก ก.ม.ลูก บรรเทา ชี้! เกษตร-SMEs-จัดสรรเหลื่อมล้ำ ... กรมที่ดินนัดถก อปท. ทั่วประเทศ ประเด็นต้องส่งข้อมูลภายใน 60 วัน
หลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นควรยกเว้น ‘ภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัย’ ให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้เสนอให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 จะมีการขยายเวลาการพิจารณากฎหมายภาษที่ดินออกไปอีก 60 วัน เป็นครั้งที่ 2
ล่าสุด พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพิจารณาใน กมธ. ยังมี 7-8 ประเด็นที่ความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งในคณะ กมธ. เอง และเสียงของแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเกณฑ์ในการจัดเก็บและประเภทกิจการ
“กมธ. วาระ 1 พิจารณาปรับลดภาษีที่ดิน กรณีบ้านหลังแรก 20 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่รัฐบาลเสนอ 50 ล้านบาทขึ้นไป แทน เพื่อความเหมาะสม นอกจากนี้ กมธ. วาระ 2 ที่พิจารณายกเว้นให้ คือ บ้านหลังที่ 2, เถียงนา กระต๊อบ สำหรับเกษตรกร หากตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านหลังแรก มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้อยู่ในข่ายยกเว้น หากอยู่ต่างตำบลให้เก็บตั้งแต่บาทแรก จากการสำรวจพบว่า บ้านหลังที่ 2 ที่เป็นพื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นของนายทุนต่างถิ่น ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรจริง ๆ มีไม่เกิน 5-10 ไร่”
ยังพิจารณาผ่อนผันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนตั้งบริษัท แต่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว จะได้รับยกเว้นจัดเก็บภาษี 3 ปี หลังจากนั้นหากธุรกิจมีรายได้เข้ามา ให้เริ่มเสียภาษี ทั้งนี้ สมาร์ทเอสเอ็มอีเสนอให้ผ่อนผันกลุ่มของโรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟเอกชน สนับสนุนนักกีฬาทีมชาติ หากจัดเก็บภาษีประเภทพาณิชยกรรมจะกระทบการผลิตนักกีฬาทีมชาติ แต่มีบรรเทาการจัดเก็บภาษีสูงสุด 90%
แต่ กมธ.บางราย เห็นว่า ตัวเลขควรอยู่ที่ 95% ของมูลค่าที่ดิน นอกจากนี้ ยังผ่อนผันที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร หากยังไม่พัฒนาจะพิจารณาผ่อนผัน โดยเหตุผลที่จัดเก็บเป็นขั้นบันได เนื่องจากต้องใช้ฐานราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ใหม่ ปี 2562 ซึ่งหลายพื้นที่ราคาประเมินปรับขึ้นถึง 1,000% จากฐานราคาประเมินที่เคยใช้ 30 ปีก่อน หากจัดเก็บทันทีจะกระทบต่อประชาชนและเอกชน
หรือ การแบ่งฐานภาษีที่ดินเป็นขั้นบันได ตามมูลค่าราคาประเมิน ตอนนี้ตัวเลขยังไม่เคาะออกมา อาทิ จะพิจารณาจากมูลค่า 50-100 ล้านบาท หรือ มูลค่า 50-75 ล้านบาท, มูลค่า 100-150 ล้านบาท, มูลค่า 150-200 ล้านบาท และตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น เช่น มูลค่า 50-75 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.035% หรือ 0.04% เป็นต้น
“บางทำเลราคาประเมินขึ้น 1,000% และหากกรมธนารักษ์ปรับราคาประเมินจัดเก็บปี 2562 ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก ตัวอย่าง ปทุมธานีกับที่ดินชายขอบ กทม. ติดกัน ท้องถิ่นเรียกเก็บภาษีโรงเรือนกับบำรุงท้องที่ จะใช้ดุลพินิจที่ปทุมธานี ท้องถิ่นอ้างว่า ทำเลติดศูนย์ราชการเก็บ 20,000 บาท ที่ดินเขต กทม. กับติดกัน เก็บเพียง 8,000 บาท เป็นต้น ซึ่งมองว่า เหลื่อมล้ำ”
ขณะนี้ สนช. ได้มอบให้คณะทำงานทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมธนารักษ์, สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานกฤษฎีกา หาทางบรรเทาและออกกฎหมายลูก 23 ฉบับ รองรับ และให้เสนอกลับภายในเดือน ต.ค.
| ที่ดินถกท้องถิ่น |
นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเตรียมการของกรมที่ดินจากผลของร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ กรมที่ดินต้องจัดส่งข้อมูลเอกสารรูปแปลงที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น (กทม., อปท.) ในพื้นที่นั้น ๆ ภายใน 60 วัน เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้เตรียมการจัดเก็บภาษี
“ทันทีที่กฎหมายที่ดินมีผลบังคับ ก็บวกไปอีก 60 วัน เป็นหน้าที่เราที่จะต้องส่งไฟล์ข้อมูลให้หน่วยงานท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นได้รับข้อมูลแล้วจะเตรียมการทันหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายฉบับนี้ว่า จะจัดเก็บจริงเมื่อไร เป็นเรื่องที่กรรมาธิการอาจต้องไปปรับแก้ไขเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ดี กรมที่ดินยังต้องทำข้อตกลงกับ อปท. เรื่องการใช้ข้อมูล ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ใช้เพื่อเก็บภาษีเท่านั้น อปท. ต้องกำกับดูแลให้ดี ห้ามนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น เพราะอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องรักษาสิทธิ์ตรงนี้ให้ชาวบ้านด้วย โดยกรมที่ดินจะนัดหารือ อปท. ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน
กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ อปท. ทราบ เช่น หากมีการแบ่งแยกโฉนด การรวมโฉนด หรือ ออกโฉนดใหม่ เพื่อที่ อปท. จะได้ทราบว่า ต้องไปเก็บภาษีกับใคร เช่นเดียวกัน กรณีมีการค้างจ่ายภาษี อปท. ก็ต้องแจ้งให้กรมที่ดินทราบ เพื่อที่กรมที่ดินจะสั่งระงับธุรกรรมจนกว่าจะมีการจ่ายภาษีค้างอย่างถูกต้อง
“ร่างกฎหมายระบุว่า จะทำธุรกรรมไม่ได้ เมื่อปรากฏจาก อปท. ว่า มีการค้างชำระ เว้นแต่กรณีมีการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คือ ต้องจ่ายชำระกันเสียก่อน และภายในเดือน มิ.ย. ของทุกปี อปท. มีหน้าที่ต้องแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้กับกรมที่ดิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลจดทะเบียน”
ต่อคำถามที่ว่า ในช่วงที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ เห็นสัญญาณการโอนเปลี่ยนที่ดินหรือไม่ เพื่อประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ อธิบดีฯ กล่าวว่า ที่ดินทั่วประเทศมีประมาณ 36.8 ล้านแปลง การทำธุรกรรมรังวัด (การแบ่งแยกโฉนด, รวมโฉนด, สอบเขต และการขอออกโฉนดใหม่) แต่ละเดือนจะอยู่ในเกณฑ์ 3 หมื่นเรื่อง และธุรกรรมเฉพาะการแบ่งแยกโฉนดจะเพิ่มปีละ 3-4% ยังไม่พบเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง หวังว่า กฎหมายฯ จะประกาศใช้ในปี 2561 เพื่อที่จะให้หน่วยงานท้องถิ่นมีเวลาเตรียมการ 1 ปี ในการสำรวจตรวจสอบ กรณีขอข้อมูลที่ดินรายแปลงสิ่งปลูกสร้างจากกรมที่ดินในช่วงที่กฎหมายยังไม่บังคับใช้ กทม. จะต้องเสียค่าธรรมเนียมอากรไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป ที่ไปขอใช้บริการรังวัด ซึ่งเป็นวงเงินจำนวนหลายล้านบาท (ค่าธรรมเนียมยื่นคำขอฉบับละ 100 บาท) แต่หากกฎหมายบังคับแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่กรมที่ดินต้องส่งมอบให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แหล่งข่าวจาก อปท. มองว่า เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2561 แต่การจัดเก็บจริงอาจเลื่อนไปจากปี 2562 เนื่องจากหากกฎหมายประกาศปีหน้า และให้เวลากรมที่ดินจัดส่งข้อมูลถัดจากนั้นภายใน 60 วัน ในขณะที่ รัฐบาลจะให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะมีผลจัดเก็บภาษีจริง การเตรียมการของท้องถิ่นอาจไม่ทัน
| เอกชนชง 2 หมวด อัตราเดียว |
สอดรับกับ นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องเพดานภาษีการจัดเก็บและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเนื้อหา พ.ร.บ. ยังไม่ครอบคลุม บางจุดไม่มีความชัดเจน หรือ ให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ตีความเอาเอง
ตัวอย่างเช่น ที่ดินเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่วันดีคืนดี ที่ดินแปลงข้าง ๆ มีกลุ่มทุนรายใหญ่มาสร้างศูนย์การค้า ทำให้ราคาประเมินที่ดินปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว เจ้าของที่นารอบข้างก็ถูกประเมินให้เสียภาษีในอัตราเดียวกับศูนย์การค้า ก็ไม่น่าจะถูกต้อง หรือ ห้องแถวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจตามหัวเมืองต่างจังหวัด เคยเสียค่าเช่า 2,000-3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเมืองเจริญขึ้น มีการประเมินราคาใหม่ ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เจ้าของอาคารก็ต้องผลักภาระมาให้ผู้เช่า ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี อีกตัวอย่างคือ ปั๊มน้ำมันที่อยู่ในเขตเมือง เนื้อที่ 2-3 ไร่ มีหัวจ่ายน้ำมันไม่กี่หัว เนื้อที่ส่วนใหญ่เป็นลานจอดรถ ห้องน้ำก็ถูกนำมาประเมินภาษีในอัตราพื้นที่การค้าด้วย”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560