data-ad-format="autorelaxed">
และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ลงทุกที ทำให้โลกที่เคยรู้สึกว่าช่างกว้างใหญ่ไพศาลเริ่มมีขนาดคับแคบลงทุกที ถ้าจำนวนประชากรโลกขยับทะลุหลัก 8,000 ล้านคนในอีกสิบปีข้างหน้าหรือทะลุเกิน 1 หมื่นล้านคนในอีก 45-50 ปีข้างหน้า โลกจะยังพอมีพื้นที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลกพอเพียงหรือไม่ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อเหล่าบรรดาเกษตรกรและธุรกิจการผลิตอาหารในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ก่อนจะไปถึงเวลานั้น เราลองมาสำรวจดูซิว่า ศักยภาพของเหล่าชาติผู้เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารส่งออกไปขายทั่วโลกหรือชาติมหาอำนาจทางการกสิกรรม ณ เวลานี้นั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง แน่นอนอยู่ว่าเกือบทั้งหมดของชาติเหล่านี้ ต้องมีอาณาเขตหรือขนาดประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาล มีภูมิอากาศหลากหลายที่เอื้อในการทำการเกษตรได้แทบทุกฤดูกาล สามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
ในเอเชียเรานั้น ข้อมูลจากการประเมินโดยธนาคารโลกเผยว่า จีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีพื้นที่กว่าครึ่ง หรือราว 54.8% เป็นแหล่งสร้างผลิตผลทางการเกษตรสำคัญอย่าง ฝ้าย น้ำมันพืช อ้อย ใบชา เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากแหล่งน้ำ โดยมีอัตราเติบโตราว 4% แต่ด้วยจำนวนประชากรในประเทศที่มีมากจนติดอันดับโลก จีนจึงมีผลิตผลทางการเกษตรเหลือส่งออกไม่มากนัก และมีสถานะเป็นผู้นำเข้าเสียมากกว่า
อินเดียนับเป็นอีกชาติมหาอำนาจทางการเกษตรในเอเชีย เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 60.3% ของประเทศ ขณะที่จำนวนประชากรจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเกี่ยวข้องกับอาชีพกสิกรรมโดยกว่า 70% ในจำนวนนี้เป็นชาวชนบทที่ยังชีพอยู่ได้ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผลผลิตที่สำคัญได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำตาล ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมเนยและเนื้อสัตว์ ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอยู่ราว 3.4%
เมื่อขยับเข้ามาดูในกลุ่มชาติอาเซียนด้วยกัน ก็พบว่าอินโดนีเซียเป็นชาติที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูงที่สุดในกลุ่ม ด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่และอุดมไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยจำนวนมาก มีแรงงานกสิกรรมอยู่ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ราว 30% และส่วนใหญ่อยู่บนเกาะชวาอันเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการบริหารประเทศ ผลิตผลสำคัญของอินโดนีเซีย ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ยางพารา โกโก้ กาแฟ ชา ข้าว อ้อย ใบยาสูบ มันสำปะหลัง และเครื่องเทศ
ถัดลงมาก็ได้แก่ เมืองไทยของเราเอง ซึ่งนับว่าเป็นดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของชาวโลกอยู่ไม่น้อย เพราะรั้งอันดับที่ 8 ในกลุ่ม Top Ten ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ด้วยยอดส่งออกสินค้าในปัจจุบันที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,200 ล้านบาทเลยทีเดียว ผลิตผลทางการเกษตรที่ยังคงเป็นพระเอกของเราก็ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าว มียอดส่งออกราว 172,778 ล้านบาทในปีก่อน และถึงแม้ว่าจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้กับอินเดียไปแล้ว แต่ข้าวไทยก็ยังคงมีอนาคตที่ดีเพราะยังมีลูกค้าเหนียวแน่นอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก
ส่วนผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่เป็นอันดับรองจากไทยนั้น ก็ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งอาจสร้างความประหลาดใจในการรับรู้อยู่ไม่น้อยเพราะดูเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในกลุ่มอาเซียน แต่มาเลเซียนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจนติดอันดับที่ 10 ของโลกขึ้นมาได้ก็เพราะว่ามีพื้นที่ปลูกต้นปาล์มมากถึง 50,000 ตร.กม ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำมันปาล์มจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก เรียกได้ว่าตลาดน้ำมันปาล์มของโลกในเวลานี้เป็นผลิตผลของมาเลเซียมากถึง 39% เลยทีเดียว ขณะที่อีก 50.4% หรือราวครึ่งหนึ่งของตลาดนั้นเป็นผลิตผลจากแดนอิเหนา
ยังมีเพื่อนบ้านอาเซียนอีกมากมายที่มีรายได้จากการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นในตลาดโลกมากเท่ากับอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ส่วนมากแล้วจะวางยุทธศาสตร์มุ่งเน้นไปทางการผลิตสินค้าไฮเทคโนโลยีเสียส่วนใหญ่ แต่ก็อย่างที่เกริ่นกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นทบทวีในอนาคต เสริมด้วยกำเพิ่มจำนวนของผู้มีฐานะปานกลางในดินแดนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อย่าง จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเวลานี้ได้เริ่มเข้ามากว้านซื้อสินค้าเกษตรสารพัดในบ้านเราจนฉุดให้ราคาอาหารหลายชนิดขยับราคาสูงขึ้นหรือหาทานได้ยาก ซึ่งก็มีตั้งแต่ส้มโอ กล้วยหอม ยันเนื้อหมูเลยทีเดียว แน่นอนว่าเมื่อมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ผลิตผลทางกสิกรรมซึ่งก็หมายถึงกระบวนการผลิตอาหารป้อนชาวโลกนั้นย่อมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นอย่างไม่มีทางเป็นอื่นได้เลย
เกษตรกรรมยุคดิจิตอล เศรษฐกิจใหม่ในยุคคนล้นโลก ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมลงทุกวันจนดูราวกับว่า เกษตรกรที่ไม่อาจหาความแน่นอนในแต่ละฤดูกาลได้อีกแล้ว การเพาะปลูกแบบพึ่งพาธรรมชาติแต่เดิมๆ คงต้องถึงจุดเปลี่ยนแปลงกันอย่างขนานใหญ่ในอนาคต โดยการหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงกันมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีพื้นฐานที่เกษตรกรหัวก้าวหน้าในบ้านเราพอจะเสาะมาใช้ได้ไม่ยากนักคือ การพยากรณ์อากาศด้วยตนเองโดยเรียนรู้วิธีการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศจากเว็บไซด์ของกรมอุตุนิยมวิทยา(www.tmd.go.th) เกษตรกรรายใดที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ ก็สามารถใช้ฐานความรู้จากตรงนี้มาช่วยวางแผนการเพาะปลูกของตนใด้ ขณะที่ระบบ GPS และภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่เพาะปลูกที่อาจเสิร์ชหาได้ไม่ยากจาก Google Earth ก็ช่วยให้การวางแปลงเพาะปลูกทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมากมาย ยิ่งถ้าได้อุปกรณ์ช่วยเพาะปลูกและช่วยเก็บเกี่ยวที่ทันสมัยเข้ามาเสริมอีก ก็เก็บผลประโยชน์จากแปลงเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จริงๆ แล้วการเพาะปลูกในรูปแบบทันสมัยเช่นนี้เกษตรกรสมัยใหม่ในโลกตะวันตกนั้นล้ำหน้าชาวเอเชียอย่างมากมาย
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอันทันสมัยอีกมากมายเหลือเกินที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวงการกสิกรรมได้ เช่น การใช้โดรนบินถ่ายภาพมุมสูงเพื่อวางแผนจัดสรรแปลงเพาะปลูก, การนำเอาซอฟแวร์สร้างภาพ 3 มิติมาช่วยค้นหาแหล่งน้ำบาดาล, การนำเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตรวจจับมาติดที่รถแทร็กเตอร์เพื่อเฝ้าดูขั้นตอนการเก็บเกี่ยวแบบเรียลไทม์ ส่วนในแวดวงปศุสัตว์การติดตั้งเครื่องคำนวนสัดส่วนอาหารแบบอัตโนมัติตามปริมาณน้ำนมของแม่วัว หรือการใช้กล้องอินฟราเรดเพื่อตรวจคัดไก่ตัวที่ป่วยออกก่อนจะสร้างหายนะไปทั้งฟาร์ม นับเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่เหล่าเกษตรกรในยุคดิจิตอลได้อย่างไร
ศูนย์กลางแห่งการทำเกษตรแบบไฮเทคในเวลานี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเอง วิถีการทำเกษตรที่นี่อาจเป็นต้นแบบให้แก่เหล่าเกษตรกรทั้งหลายในโลกได้เจริญรอยตามก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะในแง่ของการเพาะปลูกโดยใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
จากข้อมูลของ AgFunder (https://agfunder.com) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเหล่านักลงทุนด้านเกษตรกรรมยุคใหม่ทางออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง เผยว่า ในปีที่ผ่านมาการลงทุนในเทคโนโลยีด้านอาหารและกสิกรรมในอเมริกานั้นมีมูลค่าสูงถึง 4.6 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับตัวเลข 2.3 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2013 อันเป็นปีที่บริษัทมอนซานโต ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้เริ่มการลงทุนในวงการเกษตรกรรมยุคดิจิตอลอย่างจริงจัง โดยการทุ่มทุนสนับสนุนมากถึง 1 พันล้านเหรียญฯ ให้กับบริษัท Climate Corp ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยวิศวกรของกูเกิ้ล เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาอัลกอริทึม(กระบวนการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นขั้นเป็นตอน) ที่ช่วยพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่า สภาวะอากาศจะมีผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตรอย่างไร
โดยทางมอนซานโตได้พ่วงธุรกิจการทดลองเมล็ดพันธุ์ งานวิจัยเกี่ยวกับดิน และบริษัทเก็บสถิติทางการเกษตรของตนเสริมเข้าไปด้วย แถมยังได้เปิดบริษัทเล็กๆ ขึ้นมาอีก 4-5 แห่งเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรยุคใหม่แบบครบวงจร เช่น Blue River Technology ผู้ผลิตอุปกรณ์เพาะปลูกไฮเทค, HydroBio ผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดการใช้น้ำ, VitalFields ผู้ให้บริการซอฟท์แวร์จัดการระบบฟาร์ม, Planet Labs เทคโนโลยีทางดาวเทียมที่ใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตและดิน เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการขยายตลาดและปลุกกระแสการเกษตรดิจิตอลครั้งยิ่งใหญ่ ช่วยดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้อย่างมากมาย
และนี่อาจยังผลให้เกิดข่าวแพร่สะพัดในช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทอุตสาหกรรมเคมียักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน อย่าง ไบเออร์(Bayer) ได้ยื่นขอเสนอเป็นเงินสดจำนวนมากถึง 62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขอซื้อกิจการบริษัทมอนซานโต(Monsanto)ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการตัดแต่งพันธุกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร(GMO) อย่าง เมล็ดฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง ซึ่งถ้ามอนซานโตยอมขายกิจการให้ ไบเออร์ก็จะเปลี่ยนสถานะจากบริษัทขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพยักษ์ใหญ่ ไปเป็นบริษัทขายสินค้าจำพวกยาฆ่าแมลงและเมล็ดพันธุ์พืชรายใหญ่ของโลกขึ้นมาทันที แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามนี่คือสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจสัญชาติเยอรมันรายนี้เริ่มมองเห็นหนทางจในการสร้างกำไรมหาศาลจากเหล่าเกษตรกรในยุคดิจิตอลแล้ว
ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกมากมายในแวดวงเกษตรกรรมโลกที่ไม่อาจนำมากล่าวได้หมดในที่นี้ เช่น กรณีของ ChemChina ยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์สัญชาติจีนที่ทุ่มทุนมหาศาลถึง 43 พันล้านเหรียญฯ เข้าครอบกิจการ Syngenta ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และย่าฆ่าแมลงรายใหญ่ของสวิส ซึ่งนับว่าเป็นการทุ่มทุนซื้อกิจการต่างชาติเป็นมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนเลยทีเดียว
การเปิดตัว เว็บไซด์ ฟาร์มลิ้งค์ (www.farmlink.com) เพื่อเป็นศูนย์กลางรายงานความเคลื่อนไหวในแวดวงการเกษตรยุคดิจิตอล ก็นับว่าเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจ น่าเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรหัวก้าวหน้า หรือใครก็ตามที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจทางด้านนี้ เพราะดูแล้วมีแนวโน้มที่น่าสดใสพอสมควร
เกษตรกรรุ่นใหม่ในโลกตะวันตกทุกวันนี้ เริ่มพกไอโฟน ถือไอแพ็ดออกท้องไร่ เพื่อใช้อ่านข้อมูล ดูภาพถ่ายดาวเทียม และสั่งการอุปกรณ์การเกษตรไฮเทคกันแล้ว แน่นอนว่าเกษตรกรบ้านเราหรือแม้แต่บรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน อาจมองเป็นเรื่องไกลตัวในตอนนี้ แต่ใครจะไปรู้ว่า สักวันหนึ่งซึ่งอาจจะอีกแค่ไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ เมื่อประชากรในประเทศเพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกไม่สามารถขยับขยายกันได้อีก นั่นก็คงถึงเวลาที่เหล่าเกษตรกรในอาเซียน จะต้องปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่เพื่อเข้าสู่ระบบการเกษตรไฮเทคอย่างเต็มตัว เพื่อการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างผลผลิตได้อย่างพอเพียง.
source: aec10news.com