data-ad-format="autorelaxed">
๑. จากแรงกดดันเรื่องความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นและมลภาวะที่เกิดจากภาคเกษตร ทำให้ ผู้กำหนดนโยบายเกษตรของประเทศต่างๆมองหาวิธีที่ทำให้การผลิตอาหารเพิ่มขึ้นแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technologies) จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรลดลงได้ ซึ่งการสนับสนุนภาคเกษตร EU ให้ก้าวเข้าสู่ยุคเกษตรดิจิตอล (digital agriculture) โดยเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ICT เข้าด้วยกันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคเกษตร นอกจากนั้น การทำเกษตรอย่างชาญฉลาดและรู้จักนำเทคโนโลยี ICT มาใช้ ยังมีส่วนพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ส่งผลดีต่อ สุขภาพสัตว์ ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และทำให้เกษตรกรมีสถานะในห่วงโซ่อุปทานดีขึ้น
๒. สหภาพยุโรปมีมาตรการและโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนเกษตรดิจิตอล ได้แก่ มาตรการภายใต้ CAP ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๓ โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Horizon 2020)/ ความร่วมมือด้านนวัตกรรมการเกษตร ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (EIP-AGRI) กลุ่มความร่วมมือ Operational Groups ภายใต้การดูแลของ EIP-AGRI และกลุ่ม Alliance of Internet of Things Innovation ภายใต้การดูแลของ DG CONNECT และหน่วยงานให้บริการคำปรึกษาและแผนการด้านการเงิน
๓. เทคโนโลยี ICT ที่มีการนำมาใช้ในภาคเกษตร EU แล้ว ได้แก่
- เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (drone) สำหรับสำรวจความหลากหลายของพื้นที่เกษตรและศึกษาสภาพดินหรือพืชตามจุดต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลที่ได้มีความละเอียด ทำให้การทำเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้นและการใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด (เช่น สารปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี)
- บริษัทโทรคมนาคมในแคว้น Asturias ประเทศสเปน ใช้เทคโนโลยีส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่าน เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (braodband connection) เพื่อรายงานคุณภาพนมจากวัวแต่ละตัวให้ผู้ผลิตนม ทราบทุกวัน ทำให้เกษตรกรสามารถตอบสนองและปรับตัวในการเลี้ยงวัวได้อย่างรวดเร็ว
- การเปิดเผยข้อมูลเชิงพื้นที่ (geospatial data) ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ สร้างความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายสำรวจโลกมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น
- โครงการสังเกตสภาพโลก (Copernicus) โดยใช้เทคโนโลยีสำรวจจากระยะทางไกลเพื่อ ถ่ายภาพสีและภาพจากรังสีอินฟาเรดด้วยความละเอียดสูง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หรือผู้สนใจสามารถนำภาพ จากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกรณี เช่น ติดตามตรวจสอบสภาพป่าไม้ คาดเดาปริมาณปุ๋ยและ น้ำสำหรับการผลิตพืช คาดเดาสภาพอากาศ รวมถึงทราบข้อมูลส่วนประกอบของดิน (land component) ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำเกษตรกรรมแบบความแม่นยำสูง
นอกเหนือเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ การทำเกษตรของ EU ยังใช้เครื่องมือที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิตอลหรือระบบเก็บข้อมูลและประมวลผล จึงทำงานได้เองแบบอัตโนมัติหรือสามารถควบคุมเครื่องมือจากระยะทางไกลได้ (เช่น เครื่องให้อาหารสัตว์ เครื่องรีดนมวัวอัตโนมัติ เป็นต้น) การใช้เทคโนโลยี เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการนำพาภาคเกษตรไปสู่ความทันสมัยและเพื่อต่อสู้กับความท้าทายต่างๆในอนาคต
โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
source: thaieurope.net/การสนับสนุนเกษตรดิจิตอ/