data-ad-format="autorelaxed">
จากกระแสความนิยมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ชอบกินต้นอ่อนผักชนิดต่างๆ รวมทั้งกระแสรักสุขภาพที่เกิดขึ้น ทำให้คนหันมากินและเลือกซื้อหาผักออร์แกนิก ผลไม้ไร้สารพิษกันมากขึ้น
คุณรติรัตน์ นุชนารถ หรือ คุณน้อง วัย 55 ปี ก็เช่นกัน ชอบรับประทานผักบุ้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บังเอิญเพื่อนคนหนึ่งซื้อต้นอ่อนผักบุ้งมาฝากเพราะเห็นว่าชอบ เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่าทำไมถึงไม่เพาะเพื่อกินเอง และคิดว่าเพาะเองก็คงไม่ยาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็เพาะต้นอ่อนทานตะวันอยู่ก่อนแล้ว จึงได้ตัดสินใจเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง
เริ่มแรกๆ ที่เพาะ ก็ไม่ได้ผลดีมากนัก กว่าจะเรียนรู้เทคนิคและวิธีการปลูกที่ได้ผลดี ลองผิดลองถูกมาใช้เวลาพอสมควร โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตเป็นตัวช่วย
ปัจจุบัน คุณรติรัตน์ มีอาชีพเป็นข้าราชการ แต่เพาะต้นอ่อนผักบุ้งขายเป็นรายได้เสริม ซึ่งเธอจะนำต้นอ่อนผักบุ้งไปขายช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และทำส่งให้กับแม่ค้าคนกลางรายหนึ่ง ตามแต่ออเดอร์ที่สั่งมา คนกลางจะรับไปขายอีกต่อหนึ่งตามงานแสดงสินค้าเกษตรบ้าง ออกบูธตามห้างสรรพสินค้าบ้าง เนื่องจากคนที่มารับไปเป็นสมาชิกเกษตร ซึ่งเขามีแหล่งขายอยู่แล้ว
ส่วนตัวคุณรติรัตน์นั้น เธอเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง แพคลงกล่อง แล้วจำหน่ายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เท่านั้น โดยไปวางจำหน่ายที่ตลาดน้ำไทรน้อย โซน 2 (ตลาดชุมชนเก่าเจ้าพ่อจุ้ย) อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี รายได้วันละประมาณ 500-1,000 บาท ซึ่งเธอถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดี เพราะถึงขายไม่ได้หรือไม่หมดอย่างไร เธอก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เพราะชอบผักบุ้งอยู่แล้ว
ต้นอ่อนผักบุ้ง มีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าผักบุ้งปกติ 3-5 เท่า คุณรติรัตน์ว่าเช่นนั้น ก่อนจะบอกว่ารสชาติของต้นอ่อนผักบุ้ง ไม่แตกต่างจากผักบุ้งใหญ่มากมายนัก แต่ต้นอ่อนผักบุ้งอร่อยกว่าผักบุ้งต้นใหญ่ ด้วยเพราะมีความอ่อนนุ่ม และกรอบมากกว่า
ต้นอ่อนผักบุ้ง สามารถประกอบอาหารได้หลายเมนู อาทิ ผัดผักบุ้งน้ำมันหอย, ผัดผักบุ้งไฟแดง, ทำสลัดผัก หรือจะทำเมนูต้มจืด แล้วใส่ต้นอ่อนผักบุ้งด้วยก็ได้
สำหรับวิธีการเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง คุณรติรัตน์ อธิบายไว้ดังนี้
1. เริ่มจาก ล้างเมล็ดผักบุ้งในน้ำสะอาดก่อนการนำเมล็ดผักบุ้งแช่ในน้ำ ประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย
2. หลังจากนั้น เอาเมล็ดมาห่อผ้า เพื่อรักษาความชื้น คลุมผ้าไว้ประมาณ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เมล็ดจะเริ่มงอก
3. หลังจากนั้น เตรียมดินในตะกร้าสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 4-5 นิ้วเพื่อง่ายต่อการขนย้าย วางความหนาของดินไม่เกิน 1 นิ้ว และผสมมูลไส้เดือนลงไปด้วย เพื่อเป็นอาหารของพืช ส่วนดินที่ใช้เป็นดินขุยมะพร้าว ซึ่งจะมีส่วนผสมของดินน้อย
4. เมื่อเมล็ดผักบุ้งที่คลุมไว้ เริ่มมีรากงอกเล็กน้อย ให้นำเอาโปรยลงไปในตะกร้าที่เตรียมดินเอาไว้ เกลี่ยให้เต็มพื้นที่ โรยลงไปแค่พอเหมาะ
5. หลังจากนั้น ให้โรยขุยมะพร้าวกลบทับบางๆ อีกชั้น เพื่อช่วยกักเก็บความชื้น รดน้ำทุกวัน
6. ตะกร้าที่เพาะต้นอ่อนผักบุ้งต้องวางอยู่ในร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก และต้องไม่วางตากแดด เนื่องจากเวลาวางตากแดดจะทำให้อัตรางอกน้อยลง
7. หลังจากนำเมล็ดลงตะกร้า ประมาณวันที่ 2-3 เมล็ดจะเริ่มงอกออกมาเป็นราก ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว
8. วันที่ 4-5 ต้นอ่อนจะเริ่มโตขึ้นความยาวประมาณ 4-5 นิ้ว เริ่มมีใบเขียว แต่ต้นอ่อนจะมีเปลือกเกาะอยู่เยอะตามยอดต้นอ่อน จะไม่ยอมหลุดออกจากลำต้น และต้องดึงเปลือกออก
9. วันที่ 7 ต้นอ่อนผักบุ้งจะเริ่มโตขึ้น ต้นสามารถตัดได้ แต่สำหรับคุณรติรัตน์ เธอบอกว่า จะตัดในวันที่ 8 ไม่เกินวันที่ 10 ซึ่งสำหรับเธอ วันที่ 8 เป็นช่วงที่ต้นอ่อนผักบุ้งกำลังออกพองามและน่ากิน
นอกจากต้นอ่อนผักบุ้งแล้ว คุณรติรัตน์ (น้อง) ยังเพาะต้นอ่อนทานตะวันเพื่อจำหน่วยด้วย สำหรับผู้สนใจต้องการติดต่อเพื่อรับต้นอ่อนไปจำหน่าย หรือสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก สามารถติดต่อได้ที่ 09-5361-9989
source: sentangsedtee.com/career-channel/article_135