data-ad-format="autorelaxed">
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้จัดทำมาตรการชดเชยเพื่อให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายการชดเชยให้กับเกษตรกรรวมทั้งหมด 1 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี ให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมาตรการชดเชยดังกล่าวจะรองรับความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 100%
ทั้งนี้ มาตรการชดเชยให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์ โดยรัฐจะให้เงินชดเชยในปีแรก 2,000 บาท/ไร่ ปีที่ 2 ให้เงินชดเชย 3,000 บาท/ไร่ และปีที่ 3 ให้เงินชดเชย 4,000 บาท/ไร่ โดยจะเริ่มนำร่องจากกลุ่มของข้าวก่อน เนื่องจากมียุทธศาสตร์ข้าวครบวงจรแล้ว
"สาเหตุที่ต้องให้เงินชดเชยในช่วง 3 ปีแรก เนื่องจากเกษตรกรที่หันมาทำการเกษตรอินทรีย์จะต้องทำใจว่าผลผลิตที่ ได้ในช่วง 3 ปีแรกลดลงไปเกือบครึ่ง ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการให้เงินชดเชยดังกล่าวเป็นเงินที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมพร้อมที่ดินก่อนทำเกษตรอินทรีย์ การทำแนวกันชนกรณีแปลงข้างเคียงใช้สารเคมี และค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ลักษณะจะเหมือนกับการให้เบ็ดตกปลาด้วย ไม่ใช่แค่ให้ปลาเกษตรกรอย่างเดียว" น.ส.ชุติมา กล่าว
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เพราะเห็นว่าปริมาณความต้องการสินค้าออร์แกนิก หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์มีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโยป สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน แต่ปริมาณผลผลิตในประเทศไทยที่ผลิตได้ปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จึงเร่ง ส่งเสริมให้เกิดเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ขณะเดียวกันการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์นี้ ยังเป็นการส่งเสริมและรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมลงอีกทาง โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรให้ได้ 5% ภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม พื้นที่จะจัดทำเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องมีการตรวจสอบเพิ่ม เช่น เอกสารสิทธิ ซึ่งทุกแปลงที่ขอการรับรองจากทางราชการต้องมีเอกสาร หรือหลักฐานยืนยันว่าทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่า หรือพื้นที่สาธารณะ การทำแนวกันชนกรณีพื่นที่ข้างเคียงใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชที่มีความสูงกั้นสารเคมี หรือการทำคันดินกั้นสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำและอากาศ
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อีกไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 แสนราย ในปี 2564 รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก โดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศ 40% ตลาดส่งออก 60% ซึ่งจะนำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พิจารณาภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้
นอกจากนี้ จะเร่งทยอยถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบและตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับเอกชนเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันมีเพียง 8 รายเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับรองให้รวดเร็วขึ้น ส่วนผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตราออร์แกนิกไทยแลนด์จากกระทรวงแล้ว หากจะทำการส่งออกไปต่างประเทศนั้น ก็สามารถมาตรวจเพิ่มเติมอีกเพียง 5 รายการเท่านั้น จากเดิมที่จะต้องตรวจทั้ง 15 รายการ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและประหยัดเวลาลงได้ เพราะไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่
"ตอนนี้ผู้ที่ได้ตราออร์แกนิกไทยแลนด์ยังไม่สามารถส่งออกได้ทันที ต้องมาตรวจรับรองเพิ่มอีก 5 รายการก่อน เพราะยังไม่มีการเทียบเคียงมาตรฐาน ในการส่งออกกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าที่ใช้กันอยู่ เช่น IFOAM ของสหภาพยุโรป JS ของญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลกำลังเจรจารัฐต่อรัฐเพื่อเทียบมาตรฐานให้ตรงกันเพื่อจะได้ส่งออกได้มาก ขึ้น" น.ส.ชุติมา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีประมาณ 30 จังหวัด โดยปี 2559 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท
source: posttoday.com/biz/gov/493885