data-ad-format="autorelaxed">
1,000 โรงสีดิ้นเอาตัวรอด หลังกำลังสีแปรรวมมากกว่าผลผลิตข้าวเปลือกถึง 3 เท่า แข่งผันตัวเป็นผู้ส่งออกแย่งแชร์ได้แล้วกว่า 2 ล้านตันต่อปี อีกด้านแห่ผลิตข้าวถุงขายเองทั้งในและต่างประเทศ ขณะปัญหาสินเชื่อแบงก์แสนล้านเริ่มคลี่คลาย
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันโรงสีทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 1,000 โรง ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกของสมาคมราว 800 โรง ในภาพรวมธุรกิจโรงสีเวลานี้มีกำลังผลิตหรือกำลังการสีแปรรวมกันมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกของประเทศเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านตันต่อปี หรือมีกำลังสีแปรมากกว่าข้าวเปลือกกว่า 3 เท่า ทำให้มีการแข่งขันสูงในการแย่งซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน และรักษาธุรกิจให้อยู่รอด
จากแข่งขันที่สูงดังกล่าว ผู้ประกอบการโรงสีได้ปรับตัว เช่นผันตัวเองเป็นผู้ส่งออกข้าว ซึ่งจากที่ประเทศไทยส่งออกข้าวในแต่ละปีประมาณ 9-10 ล้านตัน ประเมินในจำนวนนี้มีสัดส่วนการส่งออกจากโรงสีที่จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกราว 20% หรือประมาณ 2 ล้านตัน นอกจากนี้โรงสีหลายรายได้หันรุกธุรกิจทำข้าวสารบรรจุถุง จัดจำหน่ายให้กับยี่ปั๊วซาปั๊ว หรือส่งตามร้านค้าในท้องถิ่น บางรายมีศักยภาพก็ส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด
“โรงสีที่ผันตัวเองเป็นผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด ทางสมาคมจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการต่อไป”
ส่วนปัญหาธนาคารเข้มงวดในการให้สินเชื่อธุรกิจโรงสี โดยธนาคารกรุงไทยผู้ให้สินเชื่อหรือให้กู้รายใหญ่แก่โรงสีสัดส่วน 60% (หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท)ของวงเงินชนิดตั๋วระยะสั้น หรือแพ็กกิ้งสต๊อก(ตั๋วP/N) รวมกันทุกธนาคารกว่า 1 แสนล้านบาท จากธุรกิจโรงสีมีปัญหาหนี้ค้างชำระจากแบกสต๊อกข้าวที่ซื้อไว้ในราคาสูง
ขณะที่ราคาข้าวช่วงที่ผ่านมาลดลง 30-40% ของราคาตลาด ทำให้บางโรงมีปัญหาเรื่องหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) เรื่องนี้ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ในการประสานกับแบงก์กรุงไทย ล่าสุดได้รับแจ้งว่าปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้วโดยแบงก์ยอมปล่อย 70% ของวงเงินกู้แก่ลูกค้าชั้นดี ส่วนที่เป็นเอ็นพีแอลก็มีการคุยกับโรงสีเป็นรายกรณีไป
ด้านนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรค์ไรซ์ จำกัด(บจก.) บริษัททำธุรกิจโรงสี ผลจากการแข่งขันที่สูง ได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งออกข้าวขึ้นปีที่ 3 แล้ว ขณะเดียวกันเมื่อ 6-7 เดือนที่ผ่านมาได้หันมาทำธุรกิจข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศภายใต้แบรนด์จัสมินไรซ์ ขายตรงให้กับตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้ และในเขตกรุงเทพฯ มียอดขายรวม 7-8 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังทำข้าวถุงหอมมะลิ และปลายข้าวหอมมะลิ ภายใต้แบรนด์พรีเมี่ยมไรซ์ส่งจำหน่ายในฮ่องกง และตลาดแอฟริกา อยู่ในช่วงเริ่มทำตลาด
สอดคล้องกับนายวิรัตน์ บัวมหะกุล เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟย่งฮงจั้ว และประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า โรงสีข้าวในนครสวรรค์มีอยู่ประมาณ 60 โรง ส่วนหนึ่งได้ปรับตัวเองทั้งทำข้าวถุงจำหน่าย การทำข้าวนึ่งขายให้กับผู้ส่งออก และบางบริษัทเป็นผู้ส่งออกเองขึ้นกับความถนัดของแต่ละราย ในส่วนของย่งฮงจั้วได้หันมาทำข้าวถุงภายใต้ “ตราดอกบ๊วย”เป็นข้าวหอมมะลิ ขนาด 5 – 49 กก.จำหน่ายผ่านยี่ปั๊วซาปั๊ว ทั้งนี้เพื่อรักษาธุรกิจให้มีงานทำ มียอดขายประมาณ 80-90 ล้านบาทต่อปี ปีนี้คาดจะลดเหลือ 70 ล้านบาท จากราคาข้าวที่ลดลง 10-20% จากปีก่อน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2560